วันศุกร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2552

พิธีทำบุญทั่วไป



www.suthep9.com



พิธีทำบุญทั่วไป
พิธีทำบุญในที่นี้ จะพูดถึงพิธีทำบุญทั่ว ๆ ซึ่งเป็นกิจเบื้องต้นที่พุทธศาสนิกจะพึงทราบ และนำไปปฏิบัติได้ ส่วนจะผิดแผกแตกต่างกันไปบ้าง ก็สุดแต่ความนิยมของแต่ละท้องถิ่น พิธีทำบุญในศาสนาพุทธ สรุปแล้วมี 2 พิธี คือ.-
ก. พิธีทำบุญในงานมงคล เป็นการทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคล ความสุขความเจริญ เช่น พิธีแต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ และวันเกิด เป็นต้น
ข. พิธีทำบุญในงานอวมงคล เป็นการทำบุญเพื่อปัดเป่าความชั่วร้ายให้หมดไป โดยปรารถนาถึงเหตุที่มาไม่ดี หรือเหตุที่ก่อให้เกิดความทุกข์โศก เช่น พิธีศพ พิธีทำบุญในการที่แร้งจับบ้าน รุ้งกินน้ำในบ้าน เป็นต้น
ทั้ง 2 พิธี มีพิธีกรรมที่จะต้องปฏิบัติโดยย่อ ๆ ดังนี้

1. จัดสถานที่ ก่อนถึงวันพิธี จะต้องตบแต่งสถานที่รับรองพระที่เจริญพระพุทธมนต์ และแขกที่จะมาในงาน ตลอดจนเครื่องใช้แต่ละแผนก ให้เรียบร้อย
โดยเฉพาะที่พระสงฆ์ ต้องจัดให้อยู่ในฐานะที่น่าเคารพเสมอ โดยจัดที่บูชาไว้ทางขวามือของพระที่จะสวดมนต์ และให้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก (ถ้าที่จำกัดก็เว้นได้) และอาสนะพระนั้น ต้องจัดให้เป็นส่วนหนึ่งต่างหากจากฆราวาสโดยเฉพาะผู้หญิง แล้วตั้งกระโถน ภาชนะน้ำ พานหมากพลู ไว้ทางขวามือของพระสงฆ์ โดยตั้งกระโถนไว้ข้างในแล้วเรียงออกมาตามลำดับ

2. เครื่องสักการะ หมายถึง โต๊ะหมู่หรือที่บูชาอื่นใดตามฐานะอันประกอบด้วย พระพุทธรูป 1 องค์, แจกัน 1 คู่,
เชิงเทียน 1 คู่, กระถางธูป 1 ที่ เป็นอย่างน้อย อย่างมากจะจัดให้เต็มที่ตามรูปแบบการจัดของโต๊ะหมู่ 5,7 หรือ 9 เป็นต้น ก็ได้

3. ด้ายสายสิญจน์, บาตรน้ำมนต์ ในงานมงคลทุกชนิด นิยมวงด้ายสายสิญจน์รอบบ้านหรือสถานที่ แต่จะย่อลงมาแค่ที่พระสวดมนต์ก็ได้ การวางด้วยสายสิญจน์ ให้ถือเวียนขวาไว้เสมอ ถ้าจะวงรอบบ้านด้วย ก็ให้เริ่มต้นที่โต๊ะหมู่บูชา แล้วเวียนออกไปที่รั้วบ้านหรือตัวบ้านทางขวามือ (เวียนแบบเลข 1 ไทย) เมื่อวงรอบแล้วกลับมาวงรอบที่ฐานพระพุทธรูป วงไว้กับฐานพระพุทธรูปแล้วมาวงที่บาตรน้ำมนต์ เสร็จแล้วหาพานวางด้ายสายสิญจน์ที่เหลือไว้ใกล้ ๆ บาตรน้ำมนต์นั้น เพื่อให้พระสงฆ์ใช้ประกอบการเจริญพระพุทธมนต์ต่อไป
บาตรน้ำมนต์ให้ใส่น้ำพอควร จะใส่ใบเงิน ใบทอง ใบนาก หญ้าแพรก ผักส้มป่อย ผิวมะกรูด ฯลฯ ก็ได้ สุดแต่จะนิยม ไม่ใส่อะไรเลยก็ได้ เพราะพระพุทธมนต์ที่พระสวดเป็นของประเสริฐอยู่แล้ว และตั้งไว้ทางขวามือของพระสงฆ์ที่เป็นประฐาน ติดเทียนน้ำมนต์ไว้ที่ขอบบาตร 1 เล่ม จะหนัก 1 บาท หรือ 2 บาท ก็ได้ แต่ควรให้ไส้ใหญ่ ๆ ไว้เพื่อกันลมพัดดับด้วย และเมื่อพระสงฆ์ดับเทียนน้ำมนต์แล้ว ห้ามจุดอีกต่อไป ซึ่งถือว่าเป็นการดับเสนียดจัญไรไปหมดแล้ว มิให้เกิดขึ้นมาอีก
ส่วนในพิธีศพ ตั้งแต่ถึงแก่กรรมจนกระทั่งเผา ไม่มีการวางด้ายสายสิญจน์และตั้งบาตรน้ำมนต์ หลังจากเผาศพเสร็จแล้วจะทำบุญอัฐิจึงกระทำได้

4. การนิมนต์พระ เจ้าภาพจะต้องแจ้ง วันเดือนปี และพิธีที่จะกระทำให้พระสงฆ์ทราบเสมอ เพราะบทสวดมนต์จะเพิ่มเติมตามโอกาสที่ทำบุญไม่เหมือนกัน ส่วนจำนวนพระสงฆ์นั้นมีแน่นอน เฉพาะพระสวดพระอภิธรรม สวดรับเทศน์ และสวดหน้าไฟเท่านั้นคือ 4 รูป นอกนั้นแล้ว ถ้าเป็นงานมงคล พระสงฆ์ที่สวดมนต์ (เจริญพระพุทธมนต์) ก็นิยม 5 รูป, 7 รูป, 9 รูป, 10 รูป โดยเหตุผลว่า ถ้าเป็นงานแต่งงานซึ่งนิยมคู่ จะนิมนต์พระ 5 รูป, 7 รูป, 9 รูป, โดยรวมพระพุทธรูปเข้าอีก 1 องค์ เป็น 6 รูป, 8 รูป, 10 รูป ก็ได้เหมือนกัน ส่วนพิธีหลวงใช้ 10 รูป เสมอ
สำหรับพิธีสดับปกรณ์ มาติกา บังสุกุล ก็เพิ่มจำนวนพระสงฆ์มากขึ้นอีกเป็น 10, 15, 20, 25, หรือจนถึง 80 รูป หรือ 100 รูป ก็สุดแต่จะศรัทธา ไม่จำกัดจำนวน การนิมนต์พระเพื่อฉันหรือรับอาหารบิณฑบาต อย่าระบุชื่ออาหาร 5 ชนิด คือ ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ สรุปแล้วระบุไม่ได้ทุกชนิด จะเป็นขนมจีน หมี่กรอบ ไม่ได้ทั้งนั้น ให้ใช้คำรวมว่า "รับอาหารบิณฑบาต เช้า - เพล" หรือ "ฉันเช้า ฉันเพล" ก็พอแล้ว
เมื่อพระสงฆ์ที่มาสวดมนต์ถึงบ้านแล้ว กิจที่จะต้องทำอีกอย่างหนึ่งก็คือ ควรจัดหาน้ำล้างเท้าและทำให้เสร็จ เพราะถ้าพระสงฆ์ล้างเอง น้ำมีตัวสัตว์พระสงฆ์ก็เป็นอาบัติ และถ้าปล่อยให้เท้าเปียกน้ำแล้วเหยียบอาสนะพระสงฆ์ก็เป็นอาบัติอีก จึงต้องทำให้ท่าน แต่สมัยนี้ การไปมาสะดวกด้วยยานพาหนะ เท้าพระสงฆ์ไม่เปรอะเปื้อน จึงไม่มีการล้างเท้าพระสงฆ์เป็นส่วนมาก

5. ลำดับพิธี โดยทั่วไปพิธีมงคลจะเริ่มด้วยประธาน หรือเจ้าภาพจุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย ธูปไม่ควรเกิน 3 ดอก หรืออย่างมากไม่เกิน 5 ดอก เทียน 2 เล่ม และจุดให้ติดจริง ๆ จุดแล้วอธิษฐานในใจกราบพระ 3 หน แล้วอาราธนาศีล อาราธนาพระปริตร ฟังพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ เมื่อพระสงฆ์สวดถึงบท "อเสวนา จ พาลนํ" ให้เจ้าภาพจุดเทียนน้ำมนต์ และเมื่อพระสงฆ์สวดถึงบทว่า "นิพฺพนฺติ ธีรา ยถา ยมฺปทีโป" ท่านดับเทียนตรงคำว่า "นิพฺ" โดยจุ่มเทียนน้ำมนต์ลงในบาตรน้ำมนต์ (การดับเทียนอาจจะผิดแผกไปจากนี้บ้างก็เป็นเรื่องของพระสงฆ์) พระสงฆ์สวดมนต์จบแล้ว ถ้าเป็นพิธีสวดมนต์ในวันเดียว ซึ่งนิยมทำในตอนเช้า หรือเพลก็ถวายภัตตาหาร ฉันเสร็จถวายไทยธรรม พระสงฆ์อนุโมทนา เจ้าภาพกรวดน้ำ ก็นับว่าเสร็จพิธี แต่ถ้าทำบุญ 2 วัน วันแรกนิยมสวดมนต์เย็น แบบนี้ เมื่อสวดมนต์เย็นเสร็จ ก็นับว่าเสร็จไปตอนหนึ่ง รุ่งขึ้นจะเช้าหรือเพล พระสงฆ์มาถึงก็ทำกิจเบื้องต้น มีจุดเทียนธูป อาราธนาศีล รับศีลเสร็จแล้ว พระสงฆ์สวดถวายพรพระ ไม่มีอาราธนาปริตร จบแล้วถวายภัตตาหาร ถวายไทยธรรม พระสงฆ์อนุโมทนาเจ้าภาพกรวดน้ำ จึงเสร็จพิธี


6. การกรวดน้ำ เมื่อพระสงฆ์เริ่มอนุโมทนา คือ รูปหัวหน้าว่า "ยถา..." ก็ให้เจ้าภาพทำการกรวดน้ำทันที พอจบ "ยถา..." พระสงฆ์รูปที่สองขึ้นบทให้อนุโมทนา "สัพพี..." พระสงฆ์นอกนั้นสวดรับต่อพร้อมกัน ก็ให้เจ้าภาพเทน้ำให้หมด แล้วนั่งประนมมือฟังพระสงฆ์ให้พรต่อไป จบแล้ว กราบ 3 หน


7. การประพรมน้ำพระพุทธมนต์ ให้กระทำหลังจากพระสงฆ์อนุโมทนา (ยถาสัพพี) จบแล้วจะนิมนต์ให้พระสงฆ์ประพรมใคร หรือที่ใดก็นิมนต์ท่านตามประสงค์


8. การเทศน์ การนิมนต์พระสงฆ์ให้แสดงพระธรรมเทศนาด้วย ในกรณีที่พระสวดมนต์ก่อนแล้วก็มีเทศน์ติดต่อกันไป การอาราธนาตอนพระสวดมนต์ ให้อาราธนาพระปริตร ยังไม่ต้องรับศีล ต่อเมื่อถึงเวลาเทศน์นิมนต์พระสงฆ์ขึ้นธรรมาสน์แล้ว จึงอาราธนาศีล รับศีล อาราธนาธรรมต่อพระสงฆ์เทศน์จบ ถ้าไม่มีพระสวดรับเทศน์ พระท่านจะอนุโมทนาบนธรรมาสน์เลย ท่านลงมาแล้วจึงถวายไทยธรรม (เครื่องกัณฑ์เทศน์) แต่ถ้ามีพระสวดรับเทศน์ เช่น ในกรณีทำบุญหน้าศพ เป็นต้น พระเทศน์จบ พระสงฆ์สวดรับเทศน์ต่อ (ระหว่างพระเทศน์จะลงมานั่งข้างล่างต่อต้นแถวพระสวด) จบแล้วเจ้าภาพถวายไทยธรรม พระสงฆ์อนุโมทนา เจ้าภาพกรวดน้ำ เป็นเสร็จพิธี


9. การตั้งเครื่องบูชาหน้าศพ ถ้าเป็นพิธีอาบน้ำศพ จะต้องมีเทียน (ประทีป) 1 เล่ม ตามไว้ข้างศพเหนือศีรษะด้วย และประทีปนี้จะตามไว้ตลอดเวลา เมื่อนำศพลงหีบแล้ว ก็ตามไว้ข้างหีบด้านเท้าของผู้ตาย ซึ่งถือว่าผู้ตายจะได้จุดส่องทางไป
ถ้าเป็นพิธีทำบุญหน้าศพ 7 วัน 50 วัน 100 วัน หรือวันเผาก็ตาม ด้านหน้าศพจะมีที่จุดธูปไว้ให้ผู้ที่เคารพนับถือบูชา 1 ที่ และนอกจากนี้ เวลาประกอบพิธีทุกครั้ง นิยมจัดเครื่องทองน้อยไว้เบื้องหน้าศพอีก 1 ที่ ซึ่งประกอบด้วย กรวยปักดอกไม้ 3 กรวย, เทียน 1 เล่ม, ธูป 1 ดอก, เครื่องทองน้อยนี้ตั้งไว้หน้าศพ เพื่อให้ศพบูชาธรรมโดยเจ้าภาพจุดให้ และการตั้งให้ตั้งดอกไม้ไว้ข้างนอก ตั้งธูปเทียนไว้ข้างใน (หันธูปเทียนไว้ทางศพ) ให้ตั้งเครื่องทองน้อยอีกชนิดหนึ่ง สำหรับเจ้าภาพในเวลาฟังธรรมระหว่างพระสงฆ์กับเจ้าภาพ การตั้งให้หันธูปเทียนไว้ทางเจ้าภาพ


10. การจุดเทียนธูป การจุดเทียนธูปพระรัตนตรัยหรืออื่นใดก็ตาม จะต้องจุดเทียนก่อนเสมอ แล้วจึงจุดธูป เพราะถือว่าเทียนสูงกว่าธูป และอีกประการหนึ่ง การจุดเทียนก่อน หากเทียนเกิดการดับขึ้นระหว่างกลางคัน ก็จะได้ต่อติดกันสะดวกยิ่งขึ้น


11. ผ้าภูษาโยง พิธีศพ เวลาพระท่านจะบังสุกุล ถ้าไม่มีผ้าทอด พระก็จับเฉพาะผ้าภูษาโยง หากไม่มีผ้าภูษาโยง จะใช้ด้ายสายสิญจน์แทนก็ได้ และห้ามข้ามเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นมือหรือเท้าก็ตาม ถือว่าไม่เคารพศพ สำหรับศพหลวง ผ้าภูษาโยงจะถูกนำเชื่อมกับผ้าหรือด้ายสายสิญจน์ที่ต่อมาจากศพ จากนั้นเจ้าภาพจึงทอดผ้า



12. ใบปวารณา ในการทำบุญ มักจะมีเงินถวายพระสงฆ์เสมอ เพื่อให้ท่านนำไปใช้จ่าย แต่พระสงฆ์ท่านจับต้องเงินไม่ได้ จึงใช้ใบปวารณาแทน และใช้คำว่าจตุปัจจัย (ปัจจัย 4 คือ เครื่องนุ่งห่ม 1 อาหาร 1 ที่อยู่อาศัย 1 ยารักษาโรค 1) แทนคำว่าเงิน
การเตรียมการในการทำบุญ
1. การจัดสถานที่ทำบุญ
1.1 โต๊ะหมู่บูชา
- โต๊ะไว้ด้านขวาอาสน์สงฆ์ สูงกว่าอาสน์สงฆ์พอสมควร หันหน้าไปทางด้านทิศตะวันออก ทิศเหนือ หรือทิศใต้ก็ได้ ไม่นิยมตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันตก (ดูความเหมาะสมของสถานที่ประกอบด้วย)
- โต๊ะหมู่บูชา ประกอบด้วยสิ่งสำคัญอย่างน้อยคือ.-
1.1.1 พระพุทธรูป 1 องค์
1.1.2 แจกัน 1 คู่ พร้อมดอกไม้ประดับ (ดอกไม้นิยมให้มีสีสวย - กลิ่นหอม - กำลังสดชื่น)
1.1.3 กระถางธูป 1 ใบ พร้อมธูปหอม 3 ดอก
1.1.4 เชิงเทียน 1 คู่ พร้อมเทียน 2 เล่ม
1.2 อาสน์สงฆ์
- จัดตั้งไว้ด้านซ้ายโต๊ะหมู่บูชา แยกเป็นเอกเทศต่างหาก จากที่นั่งฆราวาส ประกอบด้วยเครื่องรับรอง คือ.-
1.2.1 พรมเล็กเท่าจำนวนพระสงฆ์
1.2.2 กระโถนเท่าจำนวนพระสงฆ์
1.2.3 ภาชนะน้ำเย็นเท่าจำนวนพระสงฆ์
1.2.4 ภาชนะน้ำร้อนเท่าจำนวนพระสงฆ์
- เครื่องรับรองดังกล่าว ตั้งไว้ด้านขวามือของพระสงฆ์ โดยตั้งกระโถนไว้ด้านในสุด ถัดออกมาเป็นภาชนะน้ำเย็น ส่วนภาชนะน้ำร้อนจัดถวายเมื่อพระสงฆ์เข้านั่งแล้ว
- ถ้าเครื่องรับรองไม่เพียงพอ จัดไว้สำหรับพระผู้เป็นประธานสงฆ์ 1 ที่ นอกนั้น 2 รูปต่อ 1 ที่ก็ได้ (ยกเว้นแก้วน้ำ)
1.3 ที่นั่งเจ้าภาพและผู้จัดงาน
- จัดไว้ข้างหน้าของอาสน์สงฆ์ โดยแยกเป็นส่วนหนึ่งต่างหากจากอาสน์สงฆ์
- ถ้าเนื่องเป็นอันเดียวกับอาสน์สงฆ์ ให้ปูเสื่อหรือพรมบนอาสน์สงฆ์ ทับผืนที่เป็นที่นั่งสำหรับฆราวาส โดยปูทับออกมาตามลำดับ แล้วปูพรมเล็กสำหรับพระสงฆ์แต่ละรูปอีก เพื่อให้สูงกว่าที่นั่งเจ้าภาพ
1.4 ภาชนะน้ำมนต์
- จัดทำเฉพาะพิธีทำบุญงานมงคลทุกชนิด โดยตั้งไว้ข้างโต๊ะหมู่บูชา ด้านขวาของประธานสงฆ์
- พิธีทำบุญงานอวมงคลที่เกี่ยวเนื่องกับศพ เช่น ทำบุญ 7 วัน 50 วัน 100 วัน เป็นต้น ไม่ต้องจัดภาชนะน้ำมนต์
1.5 เทียนน้ำมนต์
- ใช้เทียนขี้ผึ้งแท้ น้ำหนัก 1 บาทขึ้นไป โดยใช้ชนิดไส้ใหญ่ เพื่อป้องกันมิให้ดับง่าย
2. การนิมนต์พระสงฆ์
2.1 พิธีทำบุญงานมงคล อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 5 รูป ข้างมากไม่มีกำหนด (พิธีหลวงนิยม 10 รูป)
2.2 งานมงคลสมรส เมื่อก่อนนิยมนิมนต์จำนวนคู่ คือ 6 - 8 - 10 - 12 รูป เพื่อให้ฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาวนิมนต์ฝ่ายละเท่า ๆ กัน
2.3 ปัจจุบัน งานมงคลทุกประเภท รวมทั้งงานมงคลสมรสนิมนต์ 9 รูป (เลข 9 ออกเสียงใกล้เคียงคำว่า "ก้าว" กำลังพระเกตุ 9, พระพุทธคุณ 9 และโลกุตธรรม 9)
2.4 งานทำบุญอายุ นิยมนิมนต์พระสงฆ์เกินกว่าอายุเจ้าภาพ 1 รูป
2.5 งานอวมงคลเกี่ยวเนื่องกับพิธีศพ นิยมนิมนต์ดังนี้:-
- สวดพระอภิธรรม 4 รูป
- สวดหน้าไฟ 4 รูป
- สวดพระพุทธมนต์ 5 - 7 - 10 รูป ตามกำลังศรัทธา
- สวดแจง 20 - 25 - 50 - 100 - 500 รูป หรือทั้งวัด
- สวดมาติกา สวดบังสุกุล นิยมนิมนต์เท่าอายุผู้ตาย หรือตามศรัทธาก็ได้
2.6 วิธีการนิมนต์
- พิธีที่เป็นทางราชการ นิยมนิมนต์เป็นลายลักษณ์อักษร
- พิธีทำบุญส่วนตัว นิยมไปนิมนต์ด้วยวาจาด้วยตนเอง
2.7 ข้อควรระวัง
อย่านิมนต์ออกชื่ออาหาร เช่น นิมนต์ไปฉันขนมจีน เป็นต้น เพราะพระผิดวินัยบัญญัติ
นิมนต์แต่เพียงว่า "นิมนต์รับบิณฑบาต รับภิกษา" หรือ " นิมนต์ฉันช้า ฉันเพล" เ้ป็นต้น
3. การใช้ด้ายสายสิญจน์
3.1 นิยมใช้ทั้งงานพิธี และพิธีอวมงคล
3.2 งานพิธีอวมงคลเกี่ยวกับศพ ไม่ใช้ด้ายสายสิญจน์รอบอาคารบ้านเรือน ใช้เป็นสายโยงจากศพมาถึงอาสน์สงฆ์ สำหรับพระสงฆ์พิจารณาบังสุกุล
3.3 งานพิธีมงคล นิยมวงรอบอาคารบ้านเรือนเฉพาะพิธีขึ้นบ้านใหม่ ทำบุญบ้านประจำปี และทำบุญปัดความเสนียดจัญไรดังนี้:-
- อาคารบ้านเรือนที่มีรั้วหรือกำแพง วงรอบรั้วหรือกำแพงโดยรอบ
- อาคารบ้านเรือนที่ไม่มีรั้วหรือกำแพงล้อม หรือมีแต่บริเวณกว้างขวางเกินไป ให้วงเฉพาะรอบตัวอาคารบ้านเรือน
3.4 การวงด้ายสายสิญจน์
- เริ่มวงด้ายสายสิญจน์ตั้งแต่โต๊ะหมู่บูชา แต่ยังไม่ต้องวงรอบพระพุทธรูป เมื่อรอบอาคารบ้านเรือน หรือรอบบริเวณงาน แล้วจึงนำมาวงรอบฐานพระพุทธรูปภายหลัง โดยวงเวียนขวา 1 รอบ หรือ 3 รอบ
- วงด้ายสายสิญจน์เวียนขวาไปตามลำดับ และยกขึ้นให้อยู่สูงที่สุด เพื่อป้องกันคนข้ามกราย หรือทำขาด
- ด้ายสายสิญจน์ที่วงแล้วไว้ตลอดไป ไม่ต้องเก็บ
- พิธีทำบุญงานมงคลอื่น ๆ วงเฉพาะบริเวณห้องพิธี หรือเฉพาะรอบฐานพระพุทธรูปที่โต๊ะหมู่บูชา แล้วโยงมาวงรอบภาชนะน้ำมนต์ วางกลุ่มด้ายสายสิญจน์ใส่พานไว้ด้านซ้ายโต๊ะหมู่บูชา
3.5 การใช้ด้ายสายสิญจน์ทอดบังสุกุล
- โยงจากศพ จากโกศอัฐิ จากรูปของผู้ตาย หรือจากรายนามของผู้ตายอย่างใดอย่างหนึ่ง มาทอดให้พระสงฆ์พิจารณาบังสุกุล
- ในพิธีทำบุญงานมงคล หากเชิญโกศอัฐิของบรรพบุรุษมาร่วมบำเพ็ญกุศลด้วย เมื่อจะนิมนต์พระสงฆ์พิจารณาบังสุกุล ให้ใช้ด้ายสายสิญจน์อีกกลุ่มหนึ่งต่างหากจากกลุ่มที่พระสงฆ์ถือเจริญพระพุทธมนต์ หรือจะเด็ดด้ายสายสิญจน์ จากกลุ่มเดียวกันนั้น ให้ขาดออกจากพระพุทธรูป แล้วเชื่อมโยงกับโกศอัฐิก็ได้
3.6 การทำมงคลแฝด
- นำด้ายดิบที่ยังไม่ได้ทำเป็นด้ายสายสิญจน์ไปขอให้พระเถระที่เคารพนับถือทำพิธีปลุกเสก และทำเป็นมงคลแฝดสำหรับคู่บ่าวสาว ก่อนถึงวันงานประมาณ 7 วัน หรือ 3 วัน เป็นอย่างน้อย
4. เทียนชนวน
4.1 อุปกรณ์
- ใช้เชิงเทียนทองเหลืองขนาดกลาง 1 ข้าง
- เทียนขี้ผึ้งไส้ใหญ่ ๆ ขนาดพอสมควร 1 เล่ม
- น้ำมันชนวน (ขี้ผึ้งแท้แช่น้ำมันเบนซิน หรือเคี่ยวขี้ผึ้งให้เหลวยกลงจากเตาไฟแล้ว ผสมน้ำมันเบนซิน)
4.2 การถือเชิงเทียนชนวนสำหรับพิธีกร
- ถือด้วยมือขวา โดยหงายฝ่ามือ ใช้นิ้วมือสี่นิ้ว (เว้นนิ้วหัวแม่มือ) รองรับฐานเชิงเทียน ใช้หัวแม่มือกดฐานเชิงเทียนเข้าไว้
- ไม่นิยมจับกึ่งกลางเชิงเทียนเพราะจะทำให้ผู้ใหญ่รับไม่สะดวก
4.3 การส่งเทียนชนวนให้ผู้ใหญ่สำหรับพิธีกร
- ถึงเวลาประกอบพิธี จุดเทียนชนวน ถือด้วยมือขวา เดินเข้าไปหาประธานในพิธี (เข้าทางซ้ายมือประธาน) ยืนตรงโค้งคำนับ
- เดินตามหลังประธานในพิธีไปยังที่บูชา โดยเดินไปทางด้านซ้ายมือประธานในพิธี
- ถ้าประธานในพิธีหยุดยืนหน้าที่บูชา พิธีกรน้อมตัวลงเล็กน้อยส่งเทียนชนวน (ถ้าประธานในพิธีคุกเข่าพิธีกรก็นั่งคุกเข่า) ตามแล้วส่งเทียนชนวนด้วยมือขวา มือซ้ายห้อยอยู่ข้างตัว
- ส่งเทียนชนวนแล้วถอยหลังออกมาห่างจากประธานในพิธีพอสมควร พร้อมกับคอยสังเกต ถ้าเทียนชนวนดับ พึงรับเข้าไปจุดทันที
- เมื่อประธานในพิธีจุดเทียนธูปเสร็จแล้ว เข้าไปรับเทียนชนวน โดยวิธียื่นมือขวาแบมือเข้าไปรองรับ ถอยหลังห่างออกไปเล็กน้อย โค้งคำนับแล้วจึงกลับหลังหันเดินออกมา
4.4 การจุดเทียนธูปสำหรับประธานในพิธี
- เมื่อพิธีกรถือเทียนชนวนเข้าไปเชิญประธานในพิธี ประธานในพิธี ลุกขึ้นจากที่นั่ง เดินไปที่หน้าโต๊ะหมู่บูชา ถ้าโต๊ะหมู่บูชาตั้งอยู่สูง พึงยืนถ้าตั้งอยู่ไม่สูงนัก พอนั่งคุกเข่าจุดถึง พึงนั่งคุกเข่าลงแล้วรับเชิงเทียนชนวนจากพิธีกร
- จุดเทียนเล่มขวาของพระพุทธรูปก่อน แล้วจึงจุดเล่มซ้ายต่อไป แล้วจึงจุดธูป
- ถ้าธูปมิได้จุ่มน้ำมันชนวน พึงถอนธูปออกมาจุดกับเทียนชนวน ส่งเทียนชนวนให้พิธีกรแล้ว ปักธูปไว้ตามเดิม โดยปักเรียงหนึ่ง เป็นแถวเดียวกัน หรือปักเป็นสามเส้าก็ได้
- จุดเทียนธูปเสร็จแล้ว นั่งคุกเข่าประนมมือ กล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย โดยว่า นโม... 3 จบ แล้วว่า อิมินา... (เพียงแต่นึกในใจ) แล้วกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ขณะกราบพึงระลึกถึงพระรัตนตรัยด้วยคือ กราบครั้งที่ 1 บริกรรมว่า อรหํ สฺมาสฺมพุทฺโธ ภควา พุทฺธํ ภควนฺตํ อภิวาเทมิ ครั้งที่ 2 บริกรรมว่า สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม ธมฺมํ นมสฺสามิ ครั้งที่ 3 บริกรรมว่า สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ สงฺฆํ นมามิ เสร็จแล้วกลับเข้าไปนั่งประจำที่
5. การอาราธนาสำหรับพิธีกร
- เมื่อเจ้าภาพ หรือประธานในพิธี จุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัยเสร็จแล้ว พิธีกรเริ่มกล่าวคำอาราธนาศีล
- ถ้าอาสน์สงฆ์อยู่ระดับพื้น ผู้ร่วมพิธีทั้งหมดนั่งกับพื้น พิธีกรพึงนั่งคุกเข่าประนมมือ กราบ 3 ครั้ง แล้วจึงกล่าวคำอาราธนา ถ้าอาสน์สงฆ์ยกขึ้นสูงจากพื้น แต่ผู้ร่วมพิธีทั้งหมดนั่งอยู่กับพื้น ก็นั่งคุกเข่าอาราธนาเช่นกัน
- ถ้าอาสน์สงฆ์ยกสูง ผู้ร่วมพิธีทั้งหมดนั่งเก้าอี้ พิธีกรพึงยืนทางท้ายอาสน์สงฆ์ ข้างหน้าพระสงฆ์รูปที่ 3 จากท้ายแถว หรือที่อันเหมาะสม ทำความเคารพประธานในพิธี แล้วหันหน้าไปทางประธานสงฆ์ ประนมมือกล่าวคำอาราธนาศีล โดยหยุดทอดเสียงเป็นจังหวะ ๆ ดังนี้ ;- " มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะณัตถายะ ติสะระเณนะ สะหะ, ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ, ทุติยัมปิ ... ยาจามะ, ตะติยัมปิ ... ยาจามะ "
- เมื่อรับศีลเสร็จแล้ว พึงอาราธนาพระปริตรต่อไป จบแล้วถ้านั่งคุกเข่า ก็กราบ 3 ครั้ง ถ้ายืน ก็ยกมือไหว้ เสร็จแล้วทำความเคารพประธานในพิธีอีกครั้งหนึ่ง
6. การจุดเทียนน้ำมนต์
- ประธานในพิธี หรือเจ้าภาพ จะต้องรอคอยจุดเทียนน้ำมนต์อีกครั้งหนึ่ง
- เมื่อพระเจริญพระพุทธมนต์ถึงมงคลสูตร พิธีกรพึงจุดเทียนชนวนเข้าไปเชิญประธานในพิธี หรือเจ้าภาพไปจุดเทียนน้ำมนต์ ยกภาชนะน้ำมนต์ถวายประธานสงฆ์ ยกมือไหว้ แล้วกลับไปนั่งที่เดิม
7. การถวายข้าวบูชาพระพุทธ
- เมื่อพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ถึงบทถวายพรพระ พิธีกรยกสำรับคาวหวานไปตั้งที่หน้าโต๊ะหมู่บูชา โดยตั้งบนโต๊ะที่มีผ้าขาวปูรอง หรือที่พื้นแต่มีผ้าขาวปูรอง
- เชิญประธานในพิธี หรือเจ้าภาพทำพิธีบูชา (พิธีกรไม่ควรจัดทำเสียเอง)
- ประธานในพิธี หรือเจ้าภาพ นั่งคุกเข่า (พิธีราษฎร์จุดธูป 3 ดอก ปักที่กระถางธูป) ประนมมือกล่าวคำบูชาพระพุทธจบแล้วกราบ 3 ครั้ง
- กรณียกสำรับคาวหวานสำหรับพระพุทธ และสำรับคาว หรือทั้งคาวและหวาน สำรับพระสงฆ์ เข้าไปพร้อมกัน (หลังจบบทถวายพรพระ) ประธานในพิธี หรือเจ้าภาพ นั่งคุกเข่ากล่าวคำบูชาข้าวพระพุทธจบแล้ว จึงยกสำรับคาวหรือทั้งคาวและหวาน ถวายพระสงฆ์เฉพาะรูป ประธานในพิธี นอกนั้นจะมอบให้ผู้ร่วมพิธีเข้าร่วมถวาย ก็ชื่อว่าเป็นความสมบูรณ์แห่งพิธีการที่เหมาะสม (กรณีนี้น่าจะเหมาะสมกว่า)
8. การลาข้าวพระพุทธ
- เมื่อพระสงฆ์ฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว เจ้าภาพหรือพิธีกร เข้าไปนั่งคุกเข่าประนมมือ กล่าวคำลาข้าวพระพุทธจบแล้วกราบ 3 ครั้ง แล้วยกสำรับไปได้
9. การจัดภัตตาหารถวายพระสงฆ์
- เวลาเช้า จัดอาหารประเภทอาหารเบา เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก กาแฟ ขนมปัง เป็นต้น
- เวลาเพล จัดอาหารประเภทอาหารหนัก โดยมากจัดเป็นอาหารไทย และควรเป็นอาหารพื้นเมืองเป็นหลัก อาจมีอาหารพิเศษแทรกบ้างก็ได้
10. การประเคนของพระ
- ถ้าเป็นชาย ยกส่งให้ถึงมือพระภิกษุผู้รับประเคน ถ้าเป็นหญิงวางถวายบนผ้าที่พระทอดรับประเคน และรอให้ท่านจับที่ผ้าทอดนั้นก่อน จึงวางสิ่งของลงบนผ้านั้น
- ถ้าพระสงฆ์นั่งกับพื้น พึงนั่งคุกเข่าประเคน ถ้าพระสงฆ์นั่งเก้าอี้ พึงยืนประเคน
- ยกภัตตาหารที่จะพึงฉัน พร้อมภาชนะอาหารถวายเท่านั้น สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ไม่ต้องยกประเคน เพียงแต่วางมอบให้เท่านั้นก็พอ
- ภัตตาหารทุกชนิดที่ประเคนแล้ว ห้ามคฤหัสถ์จับต้องอีก ถ้าเผลอไปจับต้องเข้า ต้องประเคนใหม่
- ประเคนครบทุกอย่างแล้ว ถ้านั่งคุกเข่าประเคนกราบ 3 ครั้ง ถ้ายืนประเคนก็น้อมตัวลงยกมือไหว้
- ลักษณะการประเคนที่ถูกต้อง ประกอบด้วยองค์ 5 คือ :-
1. สิ่งของที่จะประเคน ไม่ใหญ่โต หรือหนักเกินไปขนาดปานกลางคนเดียวยกไหว และยกสิ่งของนั้น ให้ขึ้นจากพื้นที่สิ่งของนั้นตั้งอยู่
2. ผู้ประเคนอยู่ห่างจากพระภิกษุผู้รับประเคนประมาณ 1 ศอก (อย่างมากไม่เกิน 2 ศอก)
3. ผู้ประเคนน้อมสิ่งของนั้นเข้าไปให้ด้วยกิริยาอาการแสดงความเคารพอ่อนน้อม
4. กิริยาอาการที่น้อมสิ่งของเข้าไปให้นั้น จะส่งให้ด้วยมือก็ได้ ด้วยของเนื่องด้วยกาย เช่น ใช้ทัพพีตักถวายก็ได้
5. พระภิกษุผู้รับประเคนนั้น จะรับด้วยมือก็ได้ ด้วยของเนื่องด้วยกาย เช่น จะใช้ผ้าทอดรับ ใช้บาตรรับ หรือใช้ภาชนะรับก็ได้
11. การจัดเครื่องไทยธรรมถวายพระสงฆ์
11.1 เครื่องไทยธรรม คือ วัตถุสิ่งของต่าง ๆ ที่สมควรถวายแก่พระสงฆ์ ได้แก่ ปัจจัย 4
11.2 สิ่งของที่ประเคนพระสงฆ์ได้ในเวลาเช้าชั่วเที่ยง ได้แก่ ประเภทอาหารคาวหวานทุกชนิด ทั้งอาหารสด อาหารแห้ง และอาหาร เครื่องกระป๋องทุกประเภท
หากนำสิ่งของเหล่านี้ไปถวายในเวลาหลังเที่ยงวันแล้ว เพียงแต่แจ้งให้ภิกษุรับทราบ แล้วมอบสิ่งของเหล่านั้น แก่ศิษย์ของท่าน ให้เก็บรักษาไว้ทำถวายในวันต่อไปก็พอ
11.3 สิ่งของที่ประเคนพระสงฆ์ได้ตลอดเวลา ได้แก่ ประเภทเครื่องดื่ม เครื่องยาบำบัดความเจ็บไข้ และประเภทเภสัช เช่น น้ำตาล น้ำผึ้ง น้ำอ้อย หมากพลู หรือประเภทสิ่งของที่ไม่ใช่ของสำหรับขบฉัน
11.4 สิ่งของที่ไม่สมควรประเคนพระสงฆ์ ได้แก่ เงินและวัตถุสำหรับใช้แทนเงิน เช่น ธนบัตร เป็นต้น
(ในการถวาย ควรใช้ใบปวารณาแทนตัวเงิน ส่วนตัวเงินมอบไว้กับไวยาวัจกรของพระภิกษุนั้น)
12. การปฏิบัติในการกรวดน้ำ
- กระทำในงานทำบุญทุกชนิด เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว
- ใช้น้ำที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ ไม่มีสิ่งอื่นใดเจือปน
- ใช้ภาชนะสำหรับกรวดน้ำโดยเฉพาะ ถ้าไม่มี ก็ใช้แก้วน้ำหรือขันน้ำแทน โดยจัดเตรียมไว้ถึงเวลาใช้
- กรวดน้ำหลังจากถวายเครื่องไทยธรรมแล้ว
- เมื่อประธานสงฆ์เริ่มอนุโมทนา (ยถา...) ก็เริ่มหลั่งน้ำอุทิศส่วนกุศล
- ถ้านั่งอยู่กับพื้น พึงนั่งพับเพียบจับภาชนะสำหรับกรวดน้ำด้วยมือทั้งสอง รินน้ำให้ไหลลงเป็นสาย
- ถ้าภาชนะสำหรับกรวดน้ำปากกว้าง เช่น ขันหรือแก้ว ควรใช้นิ้วมือขวารองรับสายน้ำให้ไหลลงไปตามนิ้วชี้นั้น ถ้าภาชนะปากแคบ ไม่ต้องใช้นิ้วมือรองรับสายน้ำ
- ควรรินน้ำให้ไหลลงเป็นสาย โดยไม่ขาดตอนเป็นระยะ ๆ พร้อมกันนั้น ควรตั้งจิตอุทิศกุศลแก่ท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว
- เมื่ออุทิศเป็นส่วนรวมแล้ว ควรอุทิศระบุเฉพาะเจาะจง ชื่อ นามสกุล ของผู้ล่วงลับไปแล้วอย่างชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง
- เมื่อพระสงฆ์รูปที่ 2 รับและขึ้นอนุโมทนาว่า สัพพีติโย ... พึงเทน้ำให้หมดภาชนะ แล้วประนมมือรับพรต่อไป
- ขณะที่พระสงฆ์กำลังอนุโมทนา ไม่พึงลุกไปทำธุรกิจอื่น ๆ (หากไม่จำเป็นจริง ๆ)
- พระสงฆ์อนุโมทนาจบแล้ว พึงกราบหรือไหว้ตามสมควรแก่สถานที่นั้น ๆ
- น้ำที่กรวดแล้วพึงนำไปเทลงที่พื้นดิน โดยเทลงที่กลางแจ้ง ภายนอกตัวอาคารบ้านเรือน ห้ามเทลงไปในกระโถน หรือในที่สกปรกเป็นอันขาด

www.suthep9.com

ทำบุญขึ้นบ้านใหม่






ทำบุญขึ้นบ้านใหม่(เปิดสำนักงานใหม่, เปิดป้าย)
คำจำกัดความ คือ การทำบุญในคราวที่ขึ้นบ้านใหม่ หรือย้ายไปอยู่ที่ใหม่
ประวัติย่อ ทำสืบ ๆ กันมาจนเป็นประเพณีนิยม
สิ่งของที่ใช้ในพิธี
ก. เครื่องพิธีสงฆ์ (ดูข้างต้น)
ข. เครื่องเจิม
ค. ทรายเสก
ทำเพื่อ บำรุงขวัญและเป็นสวัสดิมงคล
ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพิธี
- ผู้ทำพิธีคือ พระสงฆ์ จำนวน 6, 7, 9, รูป ตามความเหมาะสม
- เจ้าภาพคือ เจ้าของอาคารหรือผู้แทน
- ผู้เข้าพิธีคือ เจ้าภาพ แขกผู้รับเชิญ และพิธีกร
- พิธีกรคือ ผู้รู้พิธีนี้
- ผู้ควรรับเชิญคือ ญาติมิตร บุคคลที่คุ้นเคย เพื่อนบ้านใกล้เคียง
กาลที่ควรจัดทำ ตามฤกษ์หรือโอกาสที่เจ้าภาพกำหนดขึ้น
สถานที่จัดทำ บ้านที่สร้างใหม่ หรือย้ายไปอยู่ใหม่
วิธีทำ
ก. ขั้นเตรียมการ
(1) เตรียมหาฤกษ์ หรือกำหนดกะวันเวลาไว้, นิมนต์พระสงฆ์, เชิญพิธีกร
(2) เตรียมสิ่งของที่จะใช้ในพิธีให้พร้อม
(3) วงด้ายสายสิญจน์จากพระพุทธรูป (เวียนประทักษิณ) ไปรอบอาคารหรือรั้วบ้าน
(4) เตรียมเครื่องไทยธรรม
ข. ขั้นปฏิบัติการ
(1) เจ้าภาพจุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย
(2) พิธีกร อาราธนาศีล, พระสงฆ์ให้ศีล
(3) พิธีกรอาราธนาปริตร พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์
(4) เจ้าภาพหรือผู้แทนถวายภัตตาหารเช้า หรือเพลตามโอกาสที่จัดทำ
(5) เจ้าภาพหรือผู้แทนถวายเครื่องไทยธรรม
(6) พระสงฆ์อนุโมทนา
(7) เจ้าภาพกรวดน้ำและรับพรตามลำดับ
(8) นิมนต์พระสงฆ์รูปเป็นประธาน ฯ ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ (พระสงฆ์นอกนั้นเจริญชัยมงคลคาถาชยันโต...) เจิมประตูบ้าน ประตูเรือน ประตูห้องนอน ตามฤกษ์ที่กำหนด หรือความประสงค์ของเจ้าภาพ และโปรยทรายเสกรอบบริเวณบ้าน (บ้านที่สร้างใหม่) ถ้าเป็นบ้านเก่าเคยโปรยทรายแล้วไม่ต้องโปรยซ้ำ
(9) บรรเลงเพลงมหาฤกษ์ (ถ้ามีเครื่องบรรเลง) เป็นเสร็จพิธี
หมายเหตุ
ในกรณีเปิดอาคารหรือป้าย ให้เตรียมป้าย, แพรคลุมป้าย, กรรไกรสำหรับตัดหรือเชือกสำหรับชัก

พิธีทำบุญเลี้ยงพระ


พิธีทำบุญเลี้ยงพระ

การทำบุญเลี้ยงพระ เป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งของชาวพุทธ ในการทำบุญนั้นมักนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ในตอนเย็น ซึ่งเรียกกันว่า สวดมนต์เย็น พอรุ่งขึ้นก็มีการถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ ถ้าเป็นเวลาเช้าก็เรียกว่า เลี้ยงพระเช้า ถ้าเป็นเวลาเพลก็เรียกว่า เลี้ยงพระเพล ซึ่งชาวพุทธนิยมทำบุญเลี้ยงพระกันในงามมงคล เช่น งานขึ้นบ้านใหม่ งานวันครบรอบวันเกิด งานวันมงคลสมรส และงานอวมงคล เช่น ทำบุญในงานพิธีศพ หรือพิธีเกี่ยวกับการตาย เป็นต้น
ในการทำบุญเลี้ยงพระผู้ที่เป็นเจ้าภาพ หรือผู้จัดงานพึงปฏิบัติดังต่อไปนี้
1. อาราธนาพระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์
2. เตรียมสถานที่และอุปกรณ์ ตั้งพระพุทธรูปพร้อมเครื่องบูชา ตกแต่งสถานที่บริเวณพิธี ปูลาดอาสนะสำหรับพระสงฆ์ (บางแห่งจะมีการวางด้ายสายสิญจน์)
3. เตรียมเครื่องรับรองพระสงฆ์ตามความเหมาะสม เช่น น้ำดื่ม หรืออื่น ๆ เช่น เจ้าภาพบางคนต้องการให้พระสงฆ์ทำน้ำมนต์ ก็จะต้องตั้งภาชนะสำหรับทำน้ำมนต์
4. เมื่อพระสงฆ์มาพร้อมแล้ว เจ้าภาพนิมนต์พระสงฆ์นั่งยังอาสนะที่จัดไว้ และประเคนเครื่องดื่มรับรอง
5. เมื่อได้เวลาแล้ว เจ้าภาพจุดธูปเทียนที่โต๊ะบูชา กราบเบญจางคประดิษฐ์ 3 ครั้ง
6. อาราธนาศีลและรับศีล
7. อาราธนาพระปริตร ฟังพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์
8. ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ แล้วกรวดน้ำแผ่ส่วนกุศลแก่สรรพสัตว์
9. รับพรจากพระสงฆ์ที่สวดอนุโมทนา (ถ้ามีการทำน้ำมนต์ ก็จะรับการประพรมน้ำพระพุทธมนต์)
10 เป็นอันเสร็จพิธี
สำหรับพิธีทำบุญเลี้ยงพระในงานอวมงคล เช่น ทำบุญหน้าศพ หรือทะบุญอัฐิ จะมีขั้นตอนส่วนใหญ่เหมือนกับงานทำบุญมงคล แต่มีข้อแตดต่างกันบางประการ ดังนี้
1. การอาราธนาพระสงฆ์ใช้คำว่า "ขออาราธนาศีลสวดพระพุทธมนต์"
2. ไม่ต้องตังภาชนะสำหรับทำน้ำมนต์และไม่ต้องวงสายสิญจน์
3. เตรียมสายสิญจน์ หรือภูษาโยงต่อจากศพ เพื่อใช้บังสุกุล

พิธียกเสาเอก

พิธียกเสาเอก
ของใช้ในพิธี
- จัดโต๊ะหมู่บูชา 1 ชุด พร้อมเครื่องสักการะ (ถ้าประสงค์)
- จตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระ 1 ชุด (กรณีนิมนต์พระมาประพรมน้ำมนต์ที่หลุม และเจริญชัยมงคลคาถา)
- เครื่องบูชาฤกษ์หรือสังเวยเทวดา (จัดย่อส่วนก็ได้ ดูพิธีวางศิลาฤกษ์)
- ใบทอง นาก เงิน อย่างละ 3 ใบ
- เหรียญทอง เงิน อย่างละ 9 เหรียญ
- ทรายเสก 1 ขัน
- น้ำมนต์ 1 ขัน (พร้อมกำหญ้าคา 1 กำ)
- ด้ายสายสิญจน์ 1 ม้วนเล็ก
- ทองคำเปลว 3 แผ่น
- ผ้าแพรสีแดง ห่มเสา หรือผ้าขาวม้า 1 ผืน
- หน่อกล้วย อ้อย อย่างละ 1 หน่อ
- ไม้มงคล 9 ชนิด (ถ้าประสงค์)
- แผ่นทอง นาก เงิน อย่างละ 1 แผ่น
- ข้าวตอกดอกไม้ 1 ขัน


ลำดับพิธี
- วางสายสิญจน์ เริ่มจากโต๊ะบูชาไปโต๊ะสังเวยขวาบริเวณสถานที่ก่อสร้างเข้าสู่เสาเอก (ก่อนเวลาฤกษ์พอสมควร)
เจ้าภาพ - จุดเทียนธูปที่โต๊ะหมู่บูชา อธิษฐานเพื่อเกิดสิริมงคล กราบพระ
- จุดเทียนธูปที่โต๊ะสังเวย บูชาเทวดาให้คุ้มครอง
พิธีกร - กล่าวสังเวยเทวดา
เจ้าภาพ - ดอกไม้มงคล 9 ชนิด (ถ้ามี)
- วางแผ่นทอง นาก เงินในหลุมเสาเอก (ถ้ามี)
- นำใบทอง นาก เงิน และเหรียญทอง เงิน ลงก้นหลุมแล้วนิมนต์พระสงฆ์ประพรมน้ำมนต์
โปรยทรายเสกที่หลุมเสา
- เจิมและปิดทองเสาเอก
- ผูกหน่อกล้วย อ้อย และผ้าสีแดงหรือผ้าขาวม้าที่เสาเอก
- ถือด้ายสายสิญจน์ พร้อมทั้งญาติมิตรผู้ร่วมพิธี
ช่าง - ช่วยกันยกเสาเอก จนตั้งเรียบร้อย (ขณะยกเสานั้นพระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา) (ถ้ามี)
เจ้าภาพ - โปรยข้าวตอกดอกไม้ลงหลุมเสาเอก พร้อมทั้งญาติมิตรผู้ร่วมพิธี เสร็จพิธี
หมายเหตุ - ถ้ายกเสาเอกในเดือนอ้าย ยี่ สาม เสาเอก อยู่ทิศอีสาน
- ถ้ายกเสาเอกในเดือน 4 - 5 - 6 เสาเอก อยู่ทิศอาคเนย์
- ถ้ายกเสาเอกในเดือน 7 - 8 - 9 เสาเอก อยู่ทิศหรดี
- ถ้ายกเสาเอกในเดือน 10 - 11 - 12 เสาเอก อยู่ทิศพายัพ
- เมื่อธูปที่โต๊ะสังเวยไหม้หมดดอก ให้ลาเครื่องสังเวยได้ว่า "เสสัง มังคะลัง ยาจามิ"
- หน่อกล้วย อ้อย เมื่อช่างเอาลงจากเสาแล้ว ให้นำไปปลูกไว้ในที่ต้องการ เพื่อเสี่ยงทายว่าจะงอกงามเพียงใด
- ถ้าจัดโต๊ะสังเวยไม่ได้ จะจัดเป็นสำรับบูชาพระภูมิเจ้าที่ธรรมดาก็ได้ และสิ่งประกอบอื่น ๆ
ก็เลือกเอาเท่าที่จำเป็นและหาได้ง่าย

พิธีทำบุญครบรอบอายุ 60 ปี (5 รอบ)

พิธีทำบุญครบรอบอายุ 60 ปี (5 รอบ)
คำจำกัดความ คือ การทำบุญครบรอบปีที่ 60 ตามสุริยคติกาล
ประวัติย่อ ทำสืบ ๆ กันมาจนเป็นประเพณีนิยม
สิ่งของที่ใช้ในพิธี
ก. เครื่องพิธีสงฆ์ (ดูข้างต้น)
ข. เครื่องบูชาเทวดา
(1) บายศรีปากชาม
(2) เครื่องมัจฉมังสะ คือ กุ้ง, ปู, ปลา, หัวหมู, เป็ด, ไก่
(3) ขนมนมเนย คือ ขนมต้มแดง, ต้มขาว, ขนมหูช้าง, ขนมเล็บมือนาง, มะพร้าวอ่อน กล้วยน้ำไทย (กล้วยน้ำว้าก็ได้) ผลไม้ต่าง ๆ เช่น ทับทิม, นม, เนย, ขนมทองหยิบ, ทองหยอด, ฝอยทอง
(4) ธงใหญ่ ธงประจำเทวดานพเคราะห์ ธงเล็ก (ธงสีต่าง ๆ) ตามกำลังวัน (ธงใหญ่ 9 ธง, ธงเล็ก 108 ธง) พร้อมทั้งกระทงบัตรพลี เครื่องบูชาเทวดาเหล่านี้ตั้งไว้บนโต๊ะ ปูผ้าขาว
ค. ธูปเทียนสำหรับพิธี คือ เทียนชัย เทียนมงคล อย่างละ 1 เล่ม ธูปเทียนสำหรับบูชาเทวดานพเคราะห์อย่างละ 108
ง. ขันสาครขนาดใหญ่ 1 ขัน
จ. เครื่องไทยธรรมถวายพระ
ทำเพื่อ สวัสดิมงคล
ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพิธี
- ผู้ทำพิธีคือ พระสงฆ์ จำนวน 9 รูป
- เจ้าภาพคือ ผู้ทำบุญวันเกิด
- ผู้เข้าพิธีคือ เจ้าภาพ แขกผู้รับเชิญ และพิธีกร
- พิธีกรคือ ผู้รู้พิธีนี้ (โหร, พราหมณ์ หรืออนุศาสนาจารย์)
- ผู้ควรรับเชิญคือ ญาติมิตร บุคคลที่คุ้นเคย เพื่อนบ้านใกล้เคียง
กาลที่ควรจัดทำ เมื่อครบรอบปีที่ 60 ตามสุริยคติกาล
สถานที่จัดทำ ที่บ้าน, ที่วัด หรือที่สมาคมทางพระพุทธศาสนา
วิธีทำ
ก. ขั้นเตรียมการ
(1) เตรียมหาฤกษ์ นิมนต์พระสงฆ์ เชิญพิธีกร
(2) เตรียมของที่จะใช้ในพิธีให้พร้อม
(3) เตรียมวงด้ายสายสิญจน์ (วางจากพระพุทธรูปโต๊ะหมู่บูชา ไปยังเครื่องบูชาเทวดา)
(4) เครื่องไทยธรรม
(5) เตรียมสัตว์ที่จะปล่อย เช่น นก, ปลา เป็นต้น
ข. ขั้นปฏิบัติการ
(1) เจ้าภาพจุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย
(2) พิธีกร อาราธนาศีล พระสงฆ์ให้ศีล เจ้าภาพและผู้ร่วมพิธีรับศีล
(3) เจ้าภาพจุดเทียนธูปบูชาดาวนพเคราะห์
(4) พิธีกร กล่าวชุมนุมเทวดา (สัคเค กาเม ฯลฯ) จบแล้วอาราธนาพระปริตร
(5) พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ จนถึงบทสรณคมน์ (พุทธัง)
(6) เจ้าภาพจุดเทียนชันและเทียนมงคล
(7) พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ สลับกับโหรบูชานพเคราะห์ ดังนี้
โหรบูชาพระอาทิตย์ พระสงฆ์สวดโมรปริตร
โหรบูชาพระจันทร์ พระสงฆ์สวดอภยปริตร
โหรบูชาพระอังคาร พระสงฆ์สวดกรณียเมตตสูตร
โหรบูชาพระพุธ พระสงฆ์สวดกรณียขันธปริตร
โหรบูชาพระเสาร์ พระสงฆ์สวดอังคุลิมาลปริตร
โหรบูชาพระพฤหัสบดี พระสงฆ์สวดรตนสูตร
โหรบูชาพระศุกร์ พระสงฆ์สวดอาฏานาฏิยปริตร
โหรบูชาพระราหู พระสงฆ์สวดดังนี้
- กลางคืน สวดจันทปริตร
- กลางวัน สวดสุริยปริตร
โหรบูชาพระเกตุ พระสงฆ์สวดชยปริตร
เมื่อพระสงฆ์สวดพระปริตรประจำนพเคราะห์องค์ใด เจ้าภาพหรือผู้แทนจุดเทียนธูปเท่ากำลังพระเคราะห์องค์นั้น และเมื่อพระสงฆ์ขัดตำนานบทรตนสูตร เจ้าภาพจุดเทียนน้ำมนต์
(8) ถวายภัตตาหารเช้า หรือเพลตามแต่โอกาสที่ทำ
(9) ถวายเครื่องไทยธรรม
(10) พระสงฆ์อนุโมทนา
(11) เจ้าภาพกรวดน้ำและรับพรโดยลำดับ
(12) นำน้ำพระพุทธมนต์ใส่ลงในน้ำเทพมนต์ (มนต์ที่โหรบูชา) อย่านำน้ำเทพมนต์ใส่ลงในน้ำพระพุทธมนต์
(13) ได้ฤกษ์หลั่งน้ำ นิมนต์พระสงฆ์รูปที่เป็นประธาน ฯ หลั่งน้ำมนต์พระสงฆ์นอกนั้น สวดชัยมงคลคาถา เริ่มที่บทว่า ชยันโต... ท่านผู้มีเกียรติทยอยเข้าไปหลั่งน้ำผู้มีอายุมากกว่า เจ้าภาพรดน้ำที่ตัวหรือศีรษะ ผู้มีอายุน้อยกว่ารดบนฝ่ามือ)
(14) บรรเลงเพลงมหาฤกษ์ขณะที่กำลังหลั่งน้ำ (ถ้ามีเครื่องบรรเลง)
(15) ปล่อย นก, ปลา ที่เตรียมไว้ ก่อนปล่อย ให้นำน้ำกรวดให้สัตว์เหล่านั้นเสียก่อน
- ส่งพระสงฆ์กลับ เป็นเสร็จพิธี
หมายเหตุ
1. เทียนชัย สูงเท่าตัวเจ้าภาพ ใช้ขี้ผึ้งบริสุทธิ์หนัก 80 บาท ไส้เทียนเท่าอายุ บวก 1 (61 เส้น)
2. เทียนมงคล สูงเท่ากับขนาดความยาวที่วัดโดยรอบศีรษะเจ้าภาพ ใช้ขี้ผึ้งบริสุทธิ์หนัก 32 บาท ไส้เทียนเท่าอายุ (60 เส้น) ตั้งอยู่ในขันสาครใส่น้ำ
3. เทียนกำลังนพเคราะห์ ใช้ขี้ผึ้งหนักเล่มละ 1 สลึง ยาวขนาดนิ้วชี้โดยประมาณ จำนวน 108 เล่ม
4. เทียนหนักเล่มละ 1 บาท อีก 20 เล่ม สำหรับปักที่บัตรพลี 9 เล่ม, เทียนน้ำมนต์ 2 เล่ม, เทียนชนวน 2 เล่ม (เหลือนั้นไว้เป็นอะไหล่)
5. สำหรับเทียนนพเคราะห์ 108 เล่มนั้น ใช้จุดและปักที่ขอบขันสาครเป็นน้ำเทพมนต์ ทุกครั้งที่พิธีกร สวดบูชานพเคราะห์จะใช้กี่เล่มจุดบูชา ก็สุดแต่กำลังวัน เช่น บูชาพระอาทิตย์ ก็จุด 6 เล่ม, บูชาพระจันทร์ จุด 15 เล่ม ฯลฯ ปักที่ขันสาครเรื่อยไปจนกว่าจะจบ
6. กำลังวันนั้นมีดังนี้ พระอาทิตย์ 6, พระจันทร์ 15, พระอังคาร 8, พระพุธ 17, พระพฤหัสบดี 19, พระศุกร์ 21, พระเสาร์ 10, พระราหู 12, พระเกตุ 9

พิธีถวายสังฆทาน


พิธีถวายสังฆทาน
1. จำนวนพระสงฆ์
ไม่จำกัดจำนวน
2. เครื่องสังฆทาน
- อาหารคาวหวานและของใช้อื่น ๆ ตามสมควร
- ดอกไม้ธูปเทียนและปัจจัยใส่ซอง (ใช้ใบปวารณา) จัดเป็นชุด วางไว้เบื้องหน้าพระสงฆ์แต่ละรูป
3. วันเวลาถวาย
ควรถวายเวลาก่อนเที่ยง
4. ลำดับพิธี
- จุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย แล้วกราบ 3 ครั้ง
- อาราธนาศีล และรับศีล
- ว่าบท นะโม 3 จบ แล้วกล่าวคำถวายสังฆทาน
- ประเคนเครื่องสังฆทาน
- พระสงฆ์อนุโมทนา เจ้าภาพกรวดน้ำ
- กราบ 3 ครั้ง เป็นเสร็จพิธี
หมายเหตุ
- คำถวายสังฆทาน
อิมานิ มะยัง ภันเต, ภัตตานิ, สะปะริวารานิ, ภิกขุสังฆัสสะ, โอโณชะยามะ, สาธุ โน ภันเต, ภิกขุสังโฆ, อิมานิ, ภัตตานิ, สะปะริวารานิ, ปะฏิคคัณหาตุ, อัมหากัง, ทีฆะรัตตัง, หิตายะ, สุขายะ ฯ
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ, ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายภัตตาหาร, พร้อมด้วยเครื่องบริวารเหล่านี้, แด่พระภิกษุสงฆ์, ขอพระภิกษุสงฆ์, จงรับภัตตาหาร, พร้อมด้วยเครื่องบริวารเหล่านี้, ของข้าพเจ้าทั้งหลาย, เพื่อประโยชน์ และความสุข, แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย, ตลอดกาลนานเทอญ ฯ

พิธีบรรพชาอุปสมบท

การเตรียมการ พิธีบรรพชาอุปสมบท
- ผู้ปกครองไปแจ้งความประสงค์กับทางวัด และนมัสการพระอุปัชฌาย์
ขอนำบุตรเข้ารับอุปสมบทที่วัด ตามวันเวลาที่ต้องการ
- นำบุตรที่จะเข้าอุปสมบทไปมอบถวายพระอุปัชฌาย์ตามธรรมเนียมของวัด
โดยจัดดอกไม้ธูปเทียนไปถวายท่านด้วย และไปซ้อมขานนาคตามที่ทางวัดกำหนด
- การเตรียมจัดงานที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่ความประสงค์ของเจ้าภาพ โดยคำนึงถึงความประหยัดและเหมาะสม

ของใช้ในพิธี
- เครื่องอัฐบริขาร (สบง, จีวร, สังฆาฏิ, บาตร, มีดโกน, เข็ม, ประคดเอว, ผ้ากรองน้ำ (ธมกรก)
- ไตรอาศัย 1 ไตร
- พานธูปเทียนแพ 2 ชุด (สำหรับบรรพชา)
- ดอกไม้ธูปเทียนขอนิสัย 1 ชุด (สำหรับอุปสมบท)
- จตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระอุปัชฌาย์ คู่สวด และพระอันดับ โดยจัดลดหลั่นกันลงไป
- ของใช้สำหรับพระใหม่ (ทั้งหมดดังกล่าวมา ให้ปรึกษาทางวัดบางวัด
จะรับเครื่องอัฐบริขารให้เลย เจ้าภาพเพียงจ่ายเงินเท่านั้น)

ลำดับพิธี
- นำนาคเวียนประทักษิณอุโบสถหรือพระอุโบสถ 3 รอบ โดยจัดลำดับขบวนดังนี้
ลำดับ 1 บิดานาคสะพายบาตรถือตาลปัตรเดินนำหน้า
ลำดับ 2 มารดาหรือญาติผู้เกี่ยวข้องอุ้มไตร
ลำดับ 3 นาคพนมมือถือดอกบัว 3 ดอก เดินตาม
ลำดับ 4 ผู้ถือของอื่น ๆ ตามกันไป
- เดินครบ 3 รอบ แล้วนาคคุกเข่าวันทาเสมา พนมมือถือดอกบัวว่าดังนี้
"อิมินา สักกาเรนะ พัทธสีมายัง พุทธัง ธัมมัง สังฆัง อภิปูเชมิ"
ก็ได้ หรือจะว่าคำอื่นใดที่ทางวัดนั้น ๆ ใช้อยู่ก็ใช้ได้ทั้งนั้น
- โปรยทาน (ถ้ามี) เสร็จแล้วนำนาคเข้าอุโบสถ โดยบิดามารดา หรือญาติผู้ใหญ่จูงมือเข้าไป
พิธีกรนำว่าคำกราบพระ (อะระหัง...) อาราธนาศีลห้า รับศีล (บางวัดไม่มีรับศีลห้า)
- นาคและผู้เข้าร่วมพิธีรับศีล จบแล้ว
- นาคคุกเข่ากราบบิดามารดา หรือผู้จัดการเรื่องอุปสมบทให้รับไตร
เดินเข้าสู่ท่ามกลางสงฆ์เขาหาพระอุปัชฌาย์
(ต่อจากนั้นสงฆ์จะแนะนำให้ปฏิบัติตามกรรมวิธีการอุปสมบท จนเสร็จพิธี)

หมายเหตุ - ก่อนวันอุปสมบท นาคต้องจัดพานธูปเทียนแพ หรือดอกไม้ธูปเทียนไปขอขมาลาบวชกับผู้ใหญ่
ที่ตนเคารพนับถือ โดยกราบมือตั้ง 1 ครั้ง แล้วประคองพานเครื่องสักการะ กล่าวว่า

"กระผมขอกราบลาอุปสมบท ณ วัด........ ตำบล..... อำเภอ...... จังหวัด.......... ในวันที่.......... เดือน...... พ.ศ. .... เวลา...... น.
กรรมใดที่ผม (กระผม) ได้ล่วงเกิน ด้วยกายกรรรมก็ดี วจีกรรมก็ดี มโนกรรมก็ดี
ด้วยความเขลา ด้วยความประมาท
ทั้งต่อหน้าและรับหลัง ขอท่านได้โปรดอโหสิกรรมนั้นแก่ผม (กระผม) ด้วย เพื่อความบริสุทธิ์ในการประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป" (ยัง กาเยนะ กะตัง กัมมัง, วาจายะ อทะ เจตะสา, โมเหนะ วา ปะมาเทนะ, สัมมุขา จะ ปะรัมมุขา, ตะเมวาโหสิกัมมังโข, พรหมจะริยะวิสุทธิยา)
กล่าวจบแล้ว ก็น้อมตัวลงเล็กน้อย มอบพานธูปเทียนดอกไม้แต่ท่าน เมื่อผู้ใหญ่รับแล้วท่านอาจตอบสั้น ๆ ว่า
"ข้าพเจ้า (ฉัน) อโหสิให้ อนึ่ง กรรมใดที่ข้าพเจ้า (ฉัน) ได้ล่วงเกินด้วยกายก็ดี ด้วยวาจาก็ดี ด้วยใจก็ดี ด้วยความพลั้งเผลอ ด้วยความเข้าใจผิด ข้าพเจ้า (ฉัน) ขออโหสิกรรมนั้นด้วย" ดังนี้ก็ได้

ลักษณะเครื่องสักการะธูปเทียนแพ
ส่วนประกอบ - ธูปไม้ระกำ 5 ดอก วางนอกเรียงกันบนเทียน
- เทียน 5 เล่ม วางนอกเรียงกันใต้ธูป (ธูปเทียนมัดซ้อนกัน)
เวลาใช้ - มีกรวยดอกไม้สด 1 กรวย วางบนมัดธูปเทียน เปิดที่ครอบออก
หมายเหตุ - ถ้าชุดเล็กจะมีธูป 1 ชั้น, เทียน 1 ชั้น (รวมอย่างละ 5)
- ถ้าชุดใหญ่จะมีธูป 2 ชั้น, เทียน 2 ชั้น (รวมอย่างละ 10)
- ตามพจนานุกรมไทย พ.ศ.2525 เรียกว่า "ธูปแพเทียนแพ" อธิบายว่าธูปเทียนมีอย่างละ 4

พิธีทำบุญตักบาตร

พิธีทำบุญตักบาตร
1. โอกาสที่เหมาะแก่การทำบุญตักบาตร ได้แก่ เทศการต่าง ๆ เช่น วันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ วันเฉลิมพระชนมพรรษา และวันสถาปนาหน่วย เป็นต้น
2. ประเภทของการทำบุญตักบาตร
2.1 ทำบุญตักบาตรด้วยอาหารสด
2.2 ทำบุญตักบาตรด้วยอาหารแห้ง
3. จำนวนพระ ไม่จำกัดจำนวน แล้วแต่ศรัทธา
4. การเตรียมการเบื้องต้น
4.1 โต๊ะหมู่บูชา พร้อมพระพุทธรูป และดอกไม้ธูปเทียน
4.2 ที่นั่งพระสงฆ์
4.3 โต๊ะวางอาหารสำหรับตักบาตร
4.4 ภาชนะสำหรับถ่ายอาหารจากพระ
4.5 เจ้าหน้าที่บริการพระสงฆ์
4.6 อาหารถวายพระสงฆ์ก่อนออกบิณฑบาต
4.7 อาหารสำหรับตักบาต
5. ลำดับพิธี
- ได้เวลาประธานจุดเทียนธูปพระรัตนตรัย กราบ 3 ครั้ง
- พิธีอาราธนาศีล ผู้ร่วมทำบุญรับศีล
- พระสงฆ์ออกไปรับบิณฑบาต
- ประธานสงฆ์กล่าวสัมโมทนียกถา
- พระสงฆ์อนุโมทนา ประธานกรวดน้ำ
- ประธานสงฆ์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์แก่ผู้มาร่วมทำบุญ
- ส่งพระกลับเป็นเสร็จพิธี
6. ข้อควรคำนึง
6.1 ต้องประกาศให้ทราบทั่วกันว่า จะตักบาตรด้วยอาหารแห้งหรืออาหารสด มิฉะนั้นของจะปนกันและเสียได้
6.2 อาหารสำหรับตักบาตร
- ถ้าเป็นอาหารแห้ง นิยมใช้ข้าวสุก, กับข้าว บรรจุใส่ถุง มัดให้เรียบร้อย, ของหวานต่าง ๆ บรรจุใส่ถุง และผลไม้นิดต่าง ๆ
- ถ้าเป็นอาหารแห้ง นิยมใช้ข้าวสารใส่ถุง, ผักกาดกระป๋อง, ผลไม้กระป๋อง, น้ำปลาขวดเล็ก, น้ำตาลทรายใส่ถุง, ปลากระป๋อง, อาหารสำเร็จรูปเป็นห่อ และผลไม้ชนิดต่าง ๆ
6.3 ในการจัดพระออกรับบิณฑบาต การแบ่งออกเป็นสาย ๆ ดูให้พอเหมาะกับผู้ร่วมทำบุญ
6.4 กำชับลูกศิษย์วัดที่มากับพระให้แต่งตัวให้เรียบร้อย และนำภาชนะถ่ายอาหารมาด้วย ถ้าไม่พอต้องใช้ของหน่วย แล้วจัดส่งให้ถึงวัด
6.5 การตับบาตรด้วยอาหารแห้ง ได้ประโยชน์ในส่วนที่เก็บไว้ได้นาน แต่โอกาสที่พระจะต้องอาบัติมีมากกว่า การตักบาตรด้วยอาหารสด
หมายเหตุ ลำดับพิธีเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม

พิธีทอดกฐิน

พิธีทอดกฐิน
เพื่อให้ทราบสาเหตุที่พระพุทธเจ้าจะทรงอนุญาตให้ภิกษุรับกฐิน และต่อมาทายกก็ได้ถือเป็นกุศลกรรมบำเพ็ญสืบต่อกันมา ตราบเท่าทุกวันนี้ เรื่องเดิมมีดังนี้ :-
ครั้งหนึ่ง ภิกษุชาวเมืองปาฐาประมาณ 30 รูป มีความประสงค์จะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ เมืองสาวัตถี จึงพากันเดินทางจากเมืองปาฐาไปเมืองสาวัตถี แต่พอไปถึงเมืองสาเกต ซึ่งอยู่ในระยะทางห่างจากเมืองสาวัตถีประมาณ 6 โยชน์ จึงจะถึงสาวัตถี ก็เผอิญถึงวันเข้าพรรษา ภิกษุเหล่านั้นจะเดินทางต่อไปไม่ได้ จึงจำพรรษา ณ เมืองสาเกต ในระหว่างจำพรรษามีความร้อนรนอยากเฝ้าพระพุทธเจ้า พอออกพรรษาก็เดินทางไปสาวัตถีโดยเร็ว ในเวลานั้นฝนยังตกมากอยู่ ทางเดินเต็มไปด้วยโคลนตมเปรอะเปื้อน เมื่อมาถึงสาวัตถี ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงทราบความลำบากของพระเหล่านั้น จึงทรงอนุญาตให้พระภิกษุทำพิธีกรานกฐิน ในระยะเวลาภายหลังออกพรรษาไปแล้ว 1 เดือน พระภิกษุที่ได้รับกฐินและกรานกฐินแล้ว ย่อมได้อานิสงส์ 5 ประการ ตามพระวินัยคือ :-
1. เข้าบ้านโดยไม่ต้องบอกลาภิกษุด้วยกัน
2. เดินทางไปโดยไม่ต้องเอาไตรจีวรไปครบ
3. ฉันอาหารโดยล้อมวงกันได้
4. เก็บจีวรที่ยังไม่ต้องการใช้ไว้ได้
5. ลาภที่เกิดขึ้น ให้เป็นของภิกษุที่จำพรรษาในวัดนั้น ซึ่งได้กรานกฐินแล้ว
การที่ผู้มีศรัทธานำผ้าไปถวายพระภายหลังวันออกพรรษาคือ ในระหว่างวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 จนถึงวันเพ็ญเดือน 12 ซึ่งเรียกว่า ฤดูทอดกฐิน หรือกฐินกาล นั้น ตามหลักพระวินัย ภิกษุจะต้องนำผ้านั้นมาตัด เย็บ ย้อมตากให้แห้ง ควรแก่การใช้ได้ให้เสร็จภายในวันเดียว
พิธีของกฐินนี้มีอยู่ 2 ระบบ คือ :-
1. ระยะทายกนำผ้าไปถวายระยะหนึ่ง ซึ่งตกในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันเพ็ญเดือน 12 ภายหลังออกพรรษาแล้ว
2. ระยะที่พระท่านรับผ้าจากทายกแล้วประชุมกันทำกรรมวิธีการตัดเย็บ ย้อมแล้วกรานกฐินนี้ เป็นระยะหนึ่ง ซึ่งไม่เกี่ยวกับฆราวาสประการใดเป็นเรื่องพิธีกรรมทางพระวินัยของสงฆ์โดยเฉพาะ
อนึ่ง การทอดกฐินนั้น ผู้มีศรัทธาประสงฆ์จะทอดวัดใดก็ตาม ตามธรรมดาจะต้องไปบอกกล่าวให้พระสงฆ์วัดนั้น ๆ ทราบล่วงหน้าก่อน หากไปทอดเฉย ๆ เรียกว่า "กฐินจร"
ลำดับพิธีถวายกฐิน
1. นำผ้ากฐินไปวัดที่จะถวาย ถ้ามีการแห่แหนไป เมื่อเข้าไปในวัดแล้วจะนำองค์กฐินเวียนโบสถ์ (วัดหลวงเรียกว่า พระอุโบสถ) เช่นเดียวกับการนำนาคเวียนโบสถ์ด้วยก็ได้ หรือจะไม่เวียนก็ได้
2. นำผ้ากฐินพร้อมด้วยบริวารกฐินไปตั้งไว้ ณ สถานที่ที่ถวายให้เรียบร้อย สถานที่ถวาย เช่น โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ จงพิจารณาดูว่า ที่ไหนจะเหมาะ (คำว่า เหมาะ หมายถึง ที่กว้างพอที่จะเข้าไปนั่งร่วมอนุโมทนาได้พอสมควร) เมื่อถึงเวลาที่พระสงฆ์จะทำพิธีของท่าน (สังฆกรรม) ท่านจะต้องไปทำในโบสถ์เสมอ ทำนอกโบสถ์ไม่ได้ ถ้าวัดไม่มีโบสถ์ก็ต้องทำในเขตแม่น้ำ หรือในเขตสระใหญ่ ๆ
3. เมื่อเจ้าภาพไปถึงสถานที่ถวายผ้ากฐินแล้ว ให้จุดเทียนธูปสักการะบูชาและกราบพระรัตนตรัยก่อน ดอกไม้ธูปเทียนสำหรับสักการะบูชาพระรัตนตรัยนี้ เจ้าภาพจะนำไปด้วยก็ได้ หรือจะให้คนไปจัดไว้ที่วัดก่อนก็ได้ เรื่องนี้ตามประเพณีนิยมถือกันว่า ไปวัดทั้งทีควรมีดอกไม้ธูปเทียนไปสักการะบูชาด้วย การนำไปพร้อมกับเจ้าภาพไม่ยุ่งยาก เพียงให้คนถือตามไปมีเทียน 2 เล่ม ธูป 3 ดอก ดอกไม้ 1 กำ ก็พอแล้ว เมื่อไปถึงก็นำไปสักการะบูชา ณ สถานที่จัดไว้ ถ้าให้คนไปจัดไว้ที่วัดก่อน ควรมีโต๊ะสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ปูผ้าขาว ตั้งแจกัน 1 คู่ พร้อมด้วยธูป 3 ข้างหน้าวางหมอนไว้ 1 ใบ ถ้าไม่มีหมอนก็ใช้ ผ้าขาวปูไว้แทน จะใช้ผ้าเช็ดหน้าที่สะอาดขนาดเหมาะสมก็ได้ เมื่อเจ้าภาพไปถึง ก็ให้จุดเทียนธูปสักการะบูชาพระรัตนตรัยที่จัดไว้นี้ แล้วกราบพระ 3 ครั้ง
4. ตามประเพณีนิยมในต่างจังหวัด ในบางถิ่น ถ้ามีการทอดกฐินชาวบ้านที่ทำบุญในวัดที่จะทอดนั้น จะพากันไปร่วมอนุโมทนาด้วยเป็นจำนวนมาก เวลาถวายผ้ากฐินก็ร่วมถวายด้วย ถ้าในถิ่นที่ชาวบ้านนิยมประเพณีนี้ก็ควรอนุโลม คือ ใช้ด้ายสายสิญจน์ผูกกับผ้าไตรกฐิน (อย่าผูกให้แน่นนักจะแก้ออกลำบากให้ผูกเป็นเงื่อนกระตุกได้) เมื่อผูกแล้วโยงมาวงเครื่องบริวารกฐินให้รอบ ที่เหลือจากนั้น ให้ผู้ที่มาร่วมอนุโมทนาถือด้วยกันทุกคน เวลาจะโยงวงบริวารกฐิน ให้เว้นด้ายสายสิญจน์ไว้ในระยะประมาณจากที่ตั้งองค์กฐิน ไปถึงหัวอาสน์สงฆ์ เพราะเวลานำผ้ากฐินไปประเคนนั้น ยังไม่ได้แก้ด้ายสายสิญจน์ออก ประเคนผ้ากฐินแล้วจึงแก้ออก ทั้งนี้ถือกันว่าผู้ร่วมอนุโมทนาได้ประเคนร่วมด้วย เพราะเขาถือกันว่า การทำบุญถ้าได้ประเคนกับมือตนเองได้บุญมาก เรื่องด้ายสายสิญจน์นี้ ถ้าในท้องถิ่นที่ไม่นิยมก็ไม่จำเป็นต้องใช้ เพียงแต่ประนมมือว่าคำถวายตามไปด้วยก็พอแล้ว
5. เมื่อพร้อมแล้ว ถึงเวลาถวายผ้ากฐิน ให้เจ้าภาพหยิบผ้าห่มพระ (ผ้าห่มพระประธาน) มอบให้แก่มรรคนายก เพื่อนำไปห่มพระประธาน แล้วประเคนตาลปัตรแด่พระสงฆ์ผู้เป็นประธาน เพื่อท่านจะได้ใช้ในการให้ศีล
6. มรรคนายกหรือพิธีกรอาราธนาศีล เจ้าภาพพร้อมด้วยผู้มาร่วมอนุโมทนากฐิน ตั้งใจรับศีลโดยพร้อมเพรียงกัน
7. มรรคนายกหรือผู้ช่วยพิธีกรนำผ้ากฐินมามอบให้ประธาน ส่วนพานแว่นฟ้าที่วางผ้ากฐินนั้น ให้นำไปตั้งไว้เบื้องหน้าพระสงฆ์รูปที่ 2 หรือที่ 3 นับจากหัวอาสน์สงฆ์ เพื่อว่าเมื่อกล่าวคำถวายผ้ากฐินเสร็จแล้ว จะได้นำผ้ากฐินไปวาง ณ ที่นั้น ทั้งนี้หมายความว่าผ้ากฐินตั้งไว้ รวมกับเครื่องบริวารกฐิน การตั้งรวมไว้เป็นหมวดหมู่ก็เพื่อความสวยงาม ไม่ได้ไปตั้งไว้ที่หัวอาสน์สงฆ์ก่อน เมื่อผู้เป็นประธานรับผ้ากฐินแล้ว ให้อุ้มประคองประนมมือหันหน้าไปทางพระปฏิมาประธาน (ในการทอดกฐินนี้ ถ้าสามีภรรยาไปทอดด้วยกัน จะจับผ้ากฐินด้วยกันก็ได้ และก็ควรจะเป็นเช่นนั้น เพราะว่าได้ทำบุญร่วมกันจริง ๆ ) เมื่อหันหน้าไปทางพระประธานแล้ว ให้ตั้งนะโม ... 3 จบ แล้วหันหน้าไปทางพระสงฆ์ กล่าวคำถวายผ้ากฐิน ดังนี้
(สำหรับวัดมหานิกาย) "อิมัง ภันเต, สะปะริวารัง, กะฐินะ จีวะระ ทุสสัง, สังฆัสสะ, โอโณชะยามะ" (ว่า 3 หน)
(สำหรับวัดธรรมยุต) "อิมัง ภันเต สะปะริวารัง, กะฐินะทุสสัง, สังฆัสสะ, โอโณชะยามะ, สาธุ โน ภันเต, สังโฆ, อิมัง, สะปะริวารัง, กะฐินะทุสสัง, ปะฏิคคัณหาตุ, ปะฏิคคะเหตตะวา จะ, อิมินา, ทุสเสนะ กะฐินัง อัตถะระตุ, อัมหากัง, ทีฆะรัตตัง, หิตายะ, สุขายะ
การกล่าวคำถวาย ถ้าจะไม่ว่าคำแปลด้วย ให้ทอดเสียงสองคำสุดท้าย (สำหรับวัดมหานิกาย คือ โอโณชะยามะด้วย) สำหรับวัดธรรมยุตคือ "หิตายะ สุขายะ" ให้ยาวหน่อย เพื่อให้พระสงฆ์สังเกตได้ว่าจบแล้ว ท่านจะได้กล่าวรับด้วยคำว่า "สาธุ" ขึ้นพร้อมกัน
8. เมื่อกล่าวคำถวายจบ พระสงฆ์รับ "สาธุ" ขึ้นพร้อมกันแล้ว ให้นำผ้ากฐินไปประเคนแด่พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง ประเคนองค์ที่ 2 หรือองค์ที่ 3 ก็ได้ เพื่อท่านจะได้รับไว้แทนพระสงฆ์ เพราะผ้ากฐินยังไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของรูปใดรูปหนึ่ง เมื่อท่านรับแล้ว ต่อไปนี้เป็นเรื่องของพระสงฆ์ ซึ่งจะได้พิจารณามอบผ้ากฐินให้แก่พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้สมควร
9. เมื่อพระสงฆ์ทำพิธีของท่านเสร็จแล้ว ให้มรรคนายก หรือผู้ช่วยส่งไตรคู่สวดให้เจ้าภาพประเคน เพื่อท่านจะได้ออกไปครองผ้าพร้อมกัน (การถวายผ้ากฐินนี้ ถ้าถวายที่วิหาร หรือศาลาการเปรียญ เวลาท่านจะไปทำสังฆกรรมในโบสถ์ ก็ให้ถวายไตรครองพระคู่สวดเสียก่อน ท่านจะได้ครองผ้าในโบสถ์ พร้อมกับองค์ครองกฐินเลยทีเดียว ไม่ต้องกลับมาแล้วให้ท่านครองอีกเป็นการเสียเวลา)
10. พระสงฆ์ครองผ้ากลับเข้ามานั่งบนอาสน์สงฆ์เรียบร้อยแล้ว มรรคนายกหรือพิธีกรส่งของให้เจ้าภาพประเคน ให้ส่งเครื่องบริวารกฐินถวายองค์ครองให้เสร็จก่อน แล้วประเคนพระคู่สวดพระอันดับตามลำดับ ถ้ามีสามเณรก็ให้มารับไทยธรรมตอนนี้ด้วย การประเคนของพระและสามเณรนี้ เจ้าภาพจะมีใจเอื้อเฟื้อให้ผู้มาร่วมอนุโมทนา ประเคนด้วยก็ได้ ทั้งนี้เฉพาะผู้ที่อยู่ในเครือญาติ หรือผู้ที่เคารพนับถือและรู้จักมักคุ้น
11. ประเคนเครื่องไทยธรรมเสร็จแล้ว มรรคนายกหรือพิธีกรนำน้ำกรวดไปให้เจ้าภาพ พระสงฆ์อนุโมทนาว่า (ยถา ...) เจ้าภาพกรวดน้ำ ถ้าภาชนะปากแคบ ให้เทโกรกลงในที่รองอย่าเอานิ้วรองรับสายน้ำให้หยดติ๋ง ๆ เมื่อรพสงฆ์ว่า "ยถา....." จบ ให้เทน้ำลงไปในที่รองกรวดให้หมด แล้วประนมมือฟังพระสงฆ์อนุโมทนาต่อไปจนจบ
เสร็จพิธี
เรื่องการประเคนผ้ากฐินนี้ พระสงฆ์บางวัดรับประเคน แต่มีบางวัดไม่รับ เพราะฉะนั้น ขอให้ส่งผู้แทนไปซักซ้อมเรียนถามเสียก่อน จะได้เป็นการเรียบร้อยด้วยกันทั้งสองฝ่าย สำหรับวัดที่ท่านไปประเคน ประธารพึงวางผ้ากฐินไว้บนพานแว่นฟ้า ตรงเบื้องหน้าพระสงฆ์เถระนั้น

พิธีทำบุญวันสงกรานต์

พิธีทำบุญวันสงกรานต์
ของใช้ในพิธี (กรณีทำบุญเลี้ยงพระร่วมกัน)
- โต๊ะหมู่บูชาพร้อมเครื่องตั้ง (เหมือนทำบุญเลี้ยงพระทั่วไป ๆ ไป)
- ที่พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ - โต๊ะวางอัฐบรรพชน
- เครื่องดื่มรับรองพระสงฆ์ - ภัตตาหารถวายพระสงฆ์
- โต๊ะพักอาหารที่ผู้ร่วมพิธี นำมา
- จตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์
- ด้ายสายสิญจน์พิเศษ 1 ม้วน สำหรับพระสงฆ์ชักบังสุกุลอัฐิรวมญาติ
- น้ำหอมสรงน้ำพระพุทธรูป - พระสงฆ์ และรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ฯลฯ
- อัฐิบรรพชนเพื่อบังสุกุลรวมญาติ (ถ้าประสงค์)

ลำดับพิธี (ถึงกำหนดเวลา)
ประทาน - จุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย กราบพระรูป (ผู้ร่วมพิธีพนมมือ)
ผู้ร่วมพิธี - รับศีล - ฟังพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์
- ประเคนภัตตาหารพระสงฆ์ (พระสงฆ์ฉันเสร็จ)
- ทอดผ้าบังสุกุล หรือประเคนด้ายสายสิญจน์พระสงฆ์ (ถ้าไม่มีผ้าบังสุกุล)
(พระสงฆ์ชักบังสุกุลเสร็จ)
- ร่วมกันประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมพระสงฆ์
- กรวดน้ำ - รับพร
- รับประพนมน้ำพระพุทธมนต์จากพระสงฆ์
- กล่าวคำขอขมาพระรัตนตรัย
- สรงน้ำพระพุทธรูป - พระสงฆ์
- รดน้ำดำหัว - ขอพรผู้ใหญ่
- เล่นสาดน้ำกันตามประเพรีอันดีงาม
- ปล่อยนกปล่อยปลา (ถ้ามี)
หมายเหตุ - ถ้าจัดงาน 2 วัน อาจมีพิธีแห่พระพุทธรูป ในวันที่ 12 เมษายน ตั้งพระพุทธรูปให้คนสรงน้ำ จัดมหรสพฉลอง และอาจมีการประกวดนางสงกรานต์ด้วยในตอนค่ำ (หรือเวลาใดแล้วแต่สะดวก)
- บางแห่งอาจมีเพียงทำบุญตักบาตรในเช้าวันที่ 13 เมษายน (รับศีลก่อนตักบาตร) ตักบาตรเสร็จแล้ว นิมนต์พระสงฆ์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ให้ แล้วรดน้ำดำหัวขอพระผู้ใหญ่ (ถ้าประสงค์)
คำบูชาพระรัตนตรัย
อิมินา สักกาเรนะ พุททธัง ปูเชมิ
อิมินา สักกาเรนะ ธัมมัง ปูเชมิ
อิมินา สักกาเรนะ สังฆัง ปูเชมิ
อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา พุทธธัง ภะคะวันตัง อะภิวาเทมิ
สะวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม ธัมมัง นะมัสสามิ
สุปะฏิบันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สังฆัง นะมามิ
คำขอขมพระรัตนตรัย
ว่าบทนะโม ฯ พร้อมกัน 3 จบ
โย โทโส, โมหะจิตเตนะ, พุทธัสสะมิง, ปะกะโต มะยา
ขะมะถะ เม, กะตัง โทสัง สัพพปาปัง, วินัสสะตุ
โย โทโส, โมหะจิตเตนะ ธัมมัสสะมิง, ปะกะโต มะยา
ขะมะถะ เม, กะตัง โทสัง สัพพะปาปัง, วินัสสะตุ
โย โทโส, โมหะจิตเตนะ สังฆัสะมิง, ปะกะโต มะยา
ขะมะถะ เม, กะตัง โทสัง สัพพะปาปัง, วินัสสะตุ ฯ
หากข้าพเจ้า, ได้ประพฤติล่วงเกิน, ต่อพระรัตนตรัย, ด้วยอำนาจแห่งโมหะ, หรือด้วยความพลั้งเผลอ, ข้าพเจ้าขอกราบขมาต่อพระรัตนตรัย, และจะสำรวมระวังต่อไป, ขอพระรัตนตรัย, ได้โปรดงดโทษ, และอำนวยพรให้ข้าพเจ้า, ประสบแต่สรรพมิ่งมงคลตลอดไป. ฯ

พิธีวางศิลาฤกษ์

พิธีวางศิลาฤกษ์
คำกำจัดความ พิธีวางศิลาฤกษ์ คือพิธีวางแผนศิลาจารึกดวงฤกษ์ที่คำนวณว่าเป็นฤกษ์ดีที่สุดในระยะนั้น
ประวัติย่อ เป็นความเชื่อถือปฏิบัติกันมาจนเป็นประเพณี
สิ่งที่ใช้ในพิธี
ก. เครื่องใช้ในพิธีสงฆ์
(1) โต๊ะหมู่บูชา พร้อมทั้งพระพุทธรูป เครื่องตั้งและเครื่องสักการบูชา (ดอกไม้ ธูปเทียน)
(2) ครอบน้ำมนต์พร้อมด้วยหญ้าคาพรมน้ำมนต์ 1 กำ
(3) ด้ายสายสิญจน์
(4) อาสน์สงฆ์และเครื่องรับรองพระสงฆ์ (น้ำ)
(5) ไทยธรรมสำหรับถวายพระสงฆ์ในพิธี

ข. เครื่องวางศิลาฤกษ์
(1) แผ่นศิลาฤกษ์ (ทำเตรียมไว้ตามที่โหรกำหนดให้)
(2) ไม้เข็มมงคล 9 ต้น (ชัยพฤกษ์, ราชพฤกษ์, สักทอง, ไผ่สีสุก, พยุง, ทองหลาง, กันเกรา, ทรงบันดาล หรือทรงบาดาล, ขนุน) ซึ่งพระอาจารย์อักขระไว้แล้ว
(3) ทรายเสก (ทรายที่เสกด้วยพระปริตร หรือพระพุทธมนต์)
(4) เครื่องดื่ม
(5) ทองคำเปลวประมาณ 15 แผ่น พร้อมทั้งสื่อปิดทอง
(6) อิฐทอง - นาก - เงิน อย่างละ 3 แผ่น (อิฐทาบรอนซ์ สีทอง, สีเงิน, และเทา) ถ้าใช้ 9 แผ่น วิธีอิฐตาม ผนวก ค.
(7) ตลับนพรัตน์, ลูกกันพิษกันภัย, เศษทอง, นาก, เงิน สำหรับลงก้นหลุม
(8) ข้าวตอก ดอกไม้ เมล็ดถั่ว, งาดำ
(9) ค้อน, เกรียง, ปูนซิเมนต์ผสมเสร็จแล้ว

ค. เครื่องบูชาฤกษ์ (เทวดาประจำฤกษ์)
(1) บายศรีปากชาม
(2) เครื่องมัจฉามังสะ 6 (คือ กุ้ง, ปู, ปลา, หัวหมู, เป็ด, ไก่)
(3) ขนมนมเนย
- ขนมต้มแดง, ต้มขาว
- ขนมหูช้าง
- ขนมเล็บมือนาง
- กล้วยน้ำไทย (ถ้าไม่ได้จะใช้กล้วยน้ำว้าแทนก็ได้)
- ผลไม้ต่าง ๆ
- นม, เนย
- ขนมทองหยิบ ทองหยอด, ฝอยทอง, ฯลฯ
(4) เครื่องต้อนรับเทวดา
- น้ำ 1 ที่
- หมากพลู 1 พาน
วิธีปฏิบัติ
ก. ขั้นเตรียมการ
(1) เตรียมเครื่องพิธีสงฆ์, เครื่องวางศิลาฤกษ์ และเครื่องบูชาฤกษ์ให้พร้อม
(2) เตรียมหลุมและราชวัติฉัตรธง ดังนี้ :-
- ขุดหลุมตามทิศทางที่โหรกำหนดให้ (ดูทิศการขุดคลุม)
- ขุดหลุมรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง 2 เมตร ยาว 3 เมตร ลึก 75 - 80 เซนติเมตร
- ก่ออิฐถือปูนเป็นแท่นสี่เหลี่ยมขนาดกว้างประมาณ 60 เซนติเมตร สูงประมาณ 75 - 80 เซนติเมตร สำหรับวางอิฐ ทอง - นาก - เงิน และแผ่นศิลาฤกษ์ไว้กลางหลุม
- จัดทำราชวัติฉัตรล้อมบริเวณหลุมคือ ฉัตรใหญ่ 4 ฉัตรเล็ก 8, ธง 8, ต้นกล้วย 8 ต้น, ต้นอ้อย 8 ต้น
- วางสายสิญจน์รอบบริเวณ โดยใช้สายสิญจน์จากพระพุทธรูป โยงเชื่อมไปยังเครื่องวางศิลาฤกษ์ แล้วโยงเข้าสู่ปะรำพิธี

ข. ขั้นปฏิบัติการ
(1) ก่อนฤกษ์ประมาณ 30 - 45 นาที
- ประธาน ฯ จุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย
- พิธีกร อาราธนาศีล, ประธาน ฯ และผู้เข้าร่วมพิธีตั้งใจฟังพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์
(จวนได้เวลาฤกษ์พระสงฆ์พักการสวด)
(2) ก่อนปฐมฤกษ์ประมาณ 5 - 10 นาที ประธาน ฯ กราบพระ ฯ แล้วออกไปจุดเครื่องบูชาฤกษ์ คือ จุดเทียนใหญ่ 1 คู่ และธูปเล็ก 1 กำ เพื่อปักบูชาที่เครื่องบูชาฤกษ์
(3) พิธีกร บูชาฤกษ์ (ดูบทบูชาฤกษ์)
(4) ประธาน ฯ ตั้งจิตอธิฐานนำใบเงิน ใบทอง ใบนาก 8 ใบ และเหรียญเงิน, ทองโปรยลงก้นหลุม (สมมติว่าเป็นการซื้อที่)
(5) ประธาน ฯ ปิดทองและเจิมแผ่นศิลาฤกษ์ (รอระยะจนได้ปฐมฤกษ์)
(6) ได้ฤกษ์ ประธาน ฯ ยืนหันหน้าไปทางทิศเป็นศรีของวัน (ผนวก ข.)
- ประธาน ฯ ตอดเข็มมงคล 9 ต้น ตามลำดับเป็นประทักษิณ (ดูลำดับการตอกไม้มงคล)
- พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ดนตรีบรรเลงเพลงมหาฤกษ์
(7) ประธาน ฯ วางแผ่นอิฐทอง - นาก - เงิน ตามลำดับแล้วถือปูนที่ผสมน้ำมนต์ และทรายเสกไว้ด้วยเกรียง
(8) ประธาน ฯ วางตลับนพรัตน์ลงในช่องอิฐที่ก่อไว้ แล้ววางศิลาฤกษ์ทับ
(9) ประธาน ฯ โปรยข้าวตอกดอกไม้ เหรียญเงิน เหรียญทอง ลงศิลาฤกษ์ทับ
(10) พระสงฆ์รูปหนึ่งออกมาประพรมน้ำพระพุทธมนต์ และอีกรูปหนึ่งโปรยทรายเสก
(11) พระสงฆ์รับถวายไทยธรรมแล้วอนุโมทนา ประธาน ฯ กรวดน้ำและรับพร เป็นเสร็จพิธี
(12) จัดพาหนะส่งพระสงฆ์

หมายเหตุ
- คำบูชาฤกษ์ที่แนบไว้บนท้ายนี้ พิธีกร พึงเลือกใช้ให้เหมาะสมกับเวลา บทที่ขาดไม่ได้คือ
1. บทมนัสการพระพุทธเจ้า (นโม 3 จบ)
2. บทชุมนุมเทวดา (สคฺเค ฯลฯ)
3. คาถาบูชาพระเกตุ (เกตุเทว ฯลฯ)
4. คาถาให้พรเจ้าภาพ
- เมื่อเสร็จพิธีบวงสรวงแล้ว จะลาเครื่องวังเวย พึงกล่าวคำลาว่า "เสสัง มังคะลัง ยาจามิ ข้าพเจ้าขอมงคลที่เหลือ" แล้วจึงยกเครื่องสังเวยนั้นไป

การตอกไม้มงคล
- ประธาน ฯ ยืนหรือนั่ง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เริ่มตอกตามผัง ดังนี้ :-
1. ไม้ชัยพฤกษ์
2. ไม้ราชพฤกษ์
3. ไม้สักทอง
4. ไม้สักไผ่สีสุก
5. ไม้พยุง (บางแห่งตอกไม้พยุงตรงกลาง (9)
6. ไม้ทองหลาง
7. ไม้กันเกรา
8. ไม้ทรงบันดาล
9. ไม้ขนุน
คำบูชาฤกษ์ บูชาเทวดา
1. บทนมัสการพระพุทธเจ้า (นโม 3 จบ)
2. บทชุมนุมเทวดา
สคฺเค กาเม จ รูเป ศิริสิขรตเฏ จนฺตลิเข วิมาน
ทีเป รฏเฐ จ คาเม ตรุวนคหเน เคหวตฺถุมฺหิ เขตฺเต
ภุมฺมา จายนฺตุ เทวา ชลถล วิสเม ยกฺขคนฺธพฺพนาคา
ติฏฺฐนฺตา สนฺติเก ยํ มุนิวรจนํ สาธโว เม สุณนตุ
ธมฺมสฺสวนกาโล อยมฺภทนฺตา
ธมฺมสฺสวนกาโล อยมฺภทนฺตา
ธมฺมสฺสวนกาโล อยมฺภทนฺตา ฯ

3. คาถาบูชาเทวดาอัฏฐทิศ
วนฺทิตฺวา อาจริยปาทํ เมสฺสการิย สมฺพินฺทยายํ สพฺพโทสํ วินสฺสตูติ สิริเทพฺพเยยฺยาวิโย ทยามํ มเหสรํ ปทวสํ วิสุทฺธเทวส สมุโพทิพฺน สงฺเคมนฺตุ มารสิทฺธิ ฯ
โอมพระภูมิ พระธรณี กรุงพาลี ตังเปยยปริวารา เอหิ สัตถายะ
อาคจฺฉนฺตุ ปริภุญชนฺตุ สวาหาย ฯ
นมามิ สิรสา นาโค ปฐวิยํ ปริหารโก
สคฺคสมฺปตฺติ สพฺพทา ฯ
ปุริมทิสํ ธตรฏโฐ มหาราชา ทิสาภาเค
เตปิ ตุมฺเห อนุรกขนฺคุ อาโรคฺเยน สุเขน จ
อาคเนยฺยสฺมึ คนฺธพฺโพ จ มหาราชา ทิสาภาเค
เตปิ ตุมฺเห อนุรกฺขนฺตุ อาโรคฺเยน สุเขน จ
ทกฺขิณสฺมึ วิรุฬหโก จ มหาราชา ทิสาภาเค
เตปิ ตุมฺเห อนุรกฺขนฺตุ อาโรคฺเยน สุเขน จ
หรติสฺมึ เทวา จ มหาราชา ทิสาภาเค
เตปิ ตุมฺเห อนุรกฺขนฺตุ อาโรคฺเยน สุเขน จ
ปจฺฉิมสมึ วิรูปกฺโข จ มหาราชา ทิสาภาเค
เตปิ ตุมฺเห อนุรกฺขนฺตุ อาโรคฺเยน สุเขน จ
พายพฺพสฺมึ นาโค จ มหาราชา ทิสาภาเค
เตปิ ตุมฺเห อนุรกฺขนฺตุ อาโรคฺเยน สุเขน จ
อุตฺตรสฺมึ กุเวโร จ มหาราชา ทิสาภาเค
เตปิ ตุมฺเห อนุรกฺขนฺตุ อาโรคฺเยน สุเขน จ
อีสานสฺมึ ยกฺขา จ มหาราชา ทิสาภาเค
เตปิ ตุมฺเห อนุรกฺขนฺตุ
อาโรคฺเยน สุเขน จ

สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺนํ ปริภุญฺชนตุ ฯ
โอม มโน พุทฺธรตนํ สรณํ คจฺฉามิ
โอม มโน ธมฺมรรตนํ สรณํ คจฺฉามิ
โอม มโน สงฺฆรตนํ คจฺฉามิ
อุปริมสฺมึ ทิสาภาเค จตฺตาโร เทวา มหาเทวา จนฺโท จ สุริโย จ อินฺโท จ พฺรหฺมาโน จ เสยฺยถีทํ หิโต จ เทวเสฏฺโฐ จ เทวปุญฺญโก จ เอเต จตฺตาโร เทวา มหาเทวา พุทฺธปสนฺนา ธมฺมปสนฺนา สงฺฆปสนฺนา พุทฺธคารวา สมาคนฺตฺวา อาคจฺฉนตฺ ปริภุญฺชนฺตุ หิโต จ สุรกฺโข จ เทวเสฏฺโร จ เทวปุญฺญโก จ จรํ วา ฐิตํ วา ติฏฐํ วา นิสินฺนํ วา สยานํ วา รตฺตี วา ทิวํ วา สพฺพทา รกฺขนฺตุ
4. คาถาบูชาพระเกตุ
เกตุ เทวา นโม ตยตฺถุ นาคพาหนยายิโน
โย โส เกตุมหาเทโว โสวณฺณาภรณภูสิโต
สหโส ปริเวเรน อิธาคจฺฉตุ มณฺฑเล
ทสฺสนีเย มนูญฺญมฺหิ เทวารเห สุสชฺชิเต
ทีปธูเป จ ปุปฺผานิ เทวาภิมานเน อิเม
มานุสํ ขชฺชโภชฺชญฺจ เทวสํ เวสนํ อิมึ
สาธุ ดน เกตุเทโว โส ปฏิคฺคณฺหาตุ สาธุกํ
ยํ ยญฺจ กุสลํ กมฺมํ สญฺจิตํ โน ยถาพลํ
ตสฺมิมฺปิ ปุญฺญพีชมฺหิ ปตฺติโก อนุโมทตุ
อิจฺเจวํ เกตุเทโว โส ธมฺมามิเสหิ มานิโต
สมฺมา ตํ อนุปาเลตุ อาโรคฺเยน สุเขน จ
อิมาย เทวปูชาย อมฺหํ ขมนฺตุ เทวตา
เทวาภิราธนฺถาย พลิสกฺการวาหสา
(เอ่ยนามเจ้าของบ้าน) เมตฺตํ กโรนฺตุ เทวตา
เกตุเทวานุภาเวน สพฺพโสตฺถี ภวนฺตุ เต ฯ
5. คาถาบูชาฤกษ์
นโม นมัสสิตวา ข้าแต่พระศรีตรีพิธี พิสิษฐสุทธนวางค์ธิคุณอดุลยเทพ มหิทธิมเหศราธิบดี บรมปรเมศร์ สุรสรรพวสฤษฏิ์ดำรงศักดิ์ แลเอกอัครงชิรหัตถ์วัชรินทร์ ปิ่นสุทัศน์ทิพยเทวราช และอมรนิวาสน์ สัปตาพิธีฤกษ์ในภูมิโลกนี้ กาลบัดนี้ ข้าพระพุทธเจ้าจะกระทำพลีกรรม บูชายาคพิธี ตามคติประเพณีบรรวิสัยจารีตโบราณ ขอเดชานุภาพ อภินิหาร สรรพอำนาจธรรมสุจริต มหิทธิเทพทุกองค์จงปราสาทประสิทธิ กิจพิธีโดยอิสรานุภาพ ขอพรท้ายสหัสนัยเทวราชบรมราชอิสโกศาขอพร โลกปาลาธิปวรวิสิษฐ์ ขอพรเทพเรืองฤทธิ์สถิตทิพยสถานทั่วอมรขันธ์ สรรพอนันต์จักรวาฬภูมิภพไกวัล สรรพเกาะละเมาะฝั่งอรัญรุกขลัดดาวารี สิงขรชลถลา ดำเนินหนหาวสถานพิมานมาศอมรทิพย์เทวสำนัก ขอพเทพสุรารักษ์อันศักดิ์จงรงเทวกรุณา เชิญช่วยอภิบาลบำรุงรักษา (ชื่อเจ้าของบ้านหรือเจ้าภาพ) ให้เกษมสุขสำราญหฤทัยทุกอริยาบททุกเมื่อเทอญ ฯ
ชยฺยธโร หริเทวํ ชยฺย พฺรหฺมาธตรฏฺฐํ
สุริยจนฺทมา อาโป จ เทวปฐวี จ เตโช ตโย จาคมา
วารุณา เทวา โสโม จ ยสฺสา สหเมตตฺตา กรุณา
กายิกา อารกฺขเทว ยสสฺสิโน นมสฺสาม สุวตฺถิ โหติ ฯ
6. คาถาให้พรเจ้าภาพ, เจ้าการ
สพฺพทุกขํ วินสฺสติ สพฺพภยํ วินสฺสติ สพฺพโรหา วินสฺสนฺตุ พุทธเตเชน ธมฺมเตเชน สงฺฆเตเชน อินฺทเตเชน พฺรหฺมเตเชน เทวเตเชน ฯ
ทิวา ตปติ อามิจจฺโจ รตฺตืมาภาติ จนฺทิมา
สนฺนทฺโธขตฺตืโย ตปติ ฌายี ตปติ พฺราหฺมโณ
อถ สพฺพมฺโหรตฺตํ พุทโธ ตปติ เตชสา
เอเตน สจฺจวชฺเชน สุวตฺถิ ดหตุ สพฺพทา ฯ
สิทฺธิกิจฺจํ กิจอันใดควรชอบ ได้ประกอบก่อสร้าง อย่ารู้ร้างลุได้ดังประสงค์ เทอญนา
สิทฺธิกมฺมํ การใดดังใจผดุง บำรุงจงอย่าช้า อย่าเลิกอย่าโรยรา สิทธิได้พลันพลัน เทอญนา
สิทฺธิ ตถาคโต สัพพัญญูตรัสรู้จบ มารสยบหลีกแล้ว ขออุปัทวันตรายแคล้ว คลาดพ้นพูนเกษม แลนา
สิทฺธิเตโช ชโย นิจํ เดชเรื้องปรากฏ ผู้ทรงยศปองร้าย จงครรไลแตกพ่าย ผ่องพ้นภัยพาล เทอญนา
สิทฺธิลาโภ นิรนฺตรํ ลาภสิ่งอันใด จงหลั่งไหลหล่อล้น ดังหนึ่งท่อธารท้น อย่ารู้สิ้นสูญ เลยนา
สพฺพสิทฺธิ ภวนฺตุ เต พรสรรพจงประสิทธิ์ แด่ (เอ่ยนามเจ้าภาพ) อย่าช้า ให้เสร็จสมดังข้า พร้อมพร่ำให้ฉะนี้เทอญนา ฯ
เป็นอันเสร็จบูชาสรวงเทวดา พระภูมิเจ้าที่เพียงเท่านี้.
ทิศที่เป็นศรีของวัน
วันประกอบพิธี ทิศที่เป็นศรี
อาทิตย์ ใต้
จันทร์ ตะวันตกเฉียงใต้
อังคาร ตะวันตก
พุธ ตะวันตกเฉียงเหนือ
พฤหัสบดี อีสาน
ศุกร์ ตะวันออกเฉียงใต้
เสาร์ เหนือ
พุธ (กลางคืน) ตะวันออก

พิธีศพ

พิธีศพ
ประเพณีเกี่ยวกับศพ มักจะผิดแผกแตกต่างกันไปตามความนิยมของบุคคลในท้องถิ่นนั้น ๆ แต่ส่วนใหญ่คงลักษณะการประกอบพิธีไว้เป็นแนวเดียวกัน จะนำมากล่าวพอเป็นแนวทางปฏิบัติเฉพาะบางตอน ที่อนุศาสนาจารย์ปฏิบัติช่วยเหลืออยู่เป็นประจำเท่านั้น
การตั้งศพ
เมื่อตั้งศพและจัดดอกไม้ธูปเทียนประดับเรียบร้อยแล้ว ให้ตามไฟ (ตะเกียงมีโคมหรี่ไว้ปลายเท้า 1 คู่)
ในพิธีทางราชการ เมื่ออาบน้ำศพและนำศพขึ้นตั้งเรียบร้อยแล้ว จะนิมนต์พระ 10 รูป หรือ 20 รูป สดับปกรณ์ (บังสุกุล) จบแล้วถวายไทยธรรมพระสงฆ์อนุโมทนา กรวดน้ำ ก็เป็นเสร็จพิธี
แต่ศพชาวบ้านทั่วไป ปัจจุบันนิยมนิมนต์พระสงฆ์มา 10 รูป หรือหลายรูปก็แล้วแต่ศรัทธาของเจ้าภาพ เมื่อพระมาถึงแล้ว ทอดผ้าบังสุกุลบนหีบศพ หรือบนที่ที่เตรียมไว้ นิมนต์พระชักผ้าบังสุกุล (จะเป็นผ้าไตร, จีวร, สบง, ผ้าเช็ดตัว, ผ้าเช็ดหน้า ก็ได้) เมื่อพระชักผ้าบังสุกุลแล้ว ก็เป็นอันเสร็จพิธีในตอนนี้
ลำดับพิธีในการสวดพระอภิธรรม

- ได้เวลานิมนต์พระประจำที่
- เจ้าภาพจุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย จุดเทียนธูป ณ ที่พระสงฆ์สวดพระอภิธรรม
เสร็จแล้วจุดเทียนธูปบูชาหน้าศพ แล้วกลับมานั่ง
- พิธีกร อาราธนาศีล รับศีลจบแล้ว พระสงฆ์ก็เริ่มสวดพระอภิธรรมต่อไป
- เมื่อถึงเวลาเลิกสวดประจำคืน พระสวดพระอภิธรรมจบสุดท้ายแล้ว พิธีกร
เชิญเจ้าภาพถวายไทยธรรม แล้วชักผ้าภูษาโยง หรือด้ายสายสิญจน์
- เจ้าภาพทอดผ้าบังสุกุล (ถ้ามี)
- พระสงฆ์ชักผ้าบังสุกุล
- พระสงฆ์อนุโมทนา
- เจ้าภาพกรวดน้ำ พระสงฆ์เดินทางกลับ
- เสร็จพิธี
การทำบุญ 7 วัน
เมื่อเก็บศพไว้ครบ 7 วัน เช่น ตายในวันศุกร์ พอถึงวันพฤหัสบดีของสัปดาห์ต่อมา ก็นิมนต์พระ 7 รูป (พิธีทางราชการ 10 รูป) มาสวดพระพุทธมนต์เย็น ถวายอาหารบิณฑบาตเช้าในวันรุ่งขึ้น แล้วจะมีสดับปกรณ์ (สวดมาติกาบังสุกุล) แสดงพระธรรมเทศนาต่อก็ได้ หรือทำในตอนเช้าหรือตอนเพล โดยไม่ต้องสวดมนต์เย็นก็ได้

ลำดับพิธีทำบุญ 7 วัน (ทำบุญตอนเพล)
การทำบุญ 7 วัน ถ้าทำวันเดียว ตายวันศุกร์ ให้ทำวันศุกร์สัปดาห์ต่อไป
10.00 น. - พระสงฆ์ประจำอาสนะ
- เจ้าภาพจุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย แล้วไปจุดเทียนธูปหน้าศพ และกลับมานั่งที่เดิม
- อาราธนาศีล รับศีล อาราธนาพระปริตร แล้วฟังพระสวดพร้อมกัน (ถ้ามีพิธีเทศน์ติดต่อกันไป)

- อาราธนาพระปริตรต่อทันที ส่วนศีลนั้นอาราธนาและรับศีลตอนมีเทศน์
11.00 น. - ถวายภัตตาหารเพลพระที่สวดพระพุทธมนต์
12.00 น. - พระฉันเสร็จ นำเครื่องไทยธรรมเทียบแล้ว เชิญเจ้าภาพถวาย
- เก็บไทยธรรมแล้ว ชักผ้าภูษาโยง
- เจ้าภาพทอดผ้าบังสุกุล (ถ้ามี)
- พระชักผ้าบังสุกุลแล้ว พระสงฆ์อนุโมทนา เจ้าภาพกรวดน้ำ
- เจ้าภาพจุดเทียนธูปที่โต๊ะบูชาก่อน แล้วจุดเทียนประจำกัณฑ์เทศน์ (เทียนส่องดูหนังสือเทศน์)
13.30 น. - พระเทศน์ขึ้นธรรมาสน์
- อาราธนาศีล อาราธนาธรรม
- เมื่อพระเริ่มเทศน์ด้วยการบอกศักราชก่อน ระหว่างนี้เจ้าภาพจุดเทียนเครื่องห้า (เครื่องทองน้อย)
ของศพก่อนแล้ว จุดเครื่องห้าของเจ้าภาพ หรือจะจุดติดต่อจากจุดเทียนประจำกัณฑ์เทศน์
หรือจุดระหว่างอาราธนาธรรมก็ได้
- พระสงฆ์แสดงธรรมจบ เจ้าภาพไปจุดเทียนธูป ณ ที่เบื้องหน้าพระสงฆ์สวดรับเทศน์
พระสงฆ์ 4 รูป (ถ้ามี) สวดธรรมคาถาต่อจนจบ
- เจ้าภาพถวายไทยธรรม เจ้าหน้าที่เก็บไทยธรรมแล้วชักผ้าภูษาโยง
- พระสงฆ์ทอดผ้าบังสุกุล (ถ้ามี)
- เจ้าภาพกรวดน้ำ พระสงฆ์อนุโมทนา แล้วเดินทางกลับ
- เสร็จพิธี
การทำบุญ 50 วัน 100 วัน
พิธีทำบุญ 50 หรือ 100 วัน ก็ทำเช่นเดียวกับพิธีทำบุญ 7 วัน ดังที่กล่าวมาแล้ว
การบรรจุศพ
เมื่อเจ้าภาพได้บำเพ็ญกุศลครบ 3 วัน 7 วัน 50 วัน 100 วันแล้ว ยังไม่ทำฌาปนกิจ จะต้องเก็บไว้เพื่อรอญาติ รอโอกาสอันเหมาะสม ก็นิยมเก็บศพไว้ที่บ้านหรือที่วัด ก็สุดแต่จะสะดวก ถ้าเก็บไว้ที่วัด ก็นิยมการบรรจุศพ พิธีบรรจุศพก็ไม่มีอะไรมาก เมื่อเจ้าภาพบำเพ็ญกุศลครบ 3, 5, 7, 50, 100 วัน หรือมากกว่านั้นแล้ว พอได้เวลา (ส่วนมากเวลา 15.00 - 17.00) ก็นำศพไปยังสถานที่บรรจุนำหีบศพเข้าที่เก็บ แต่ยังไม่ปิดที่เก็บ เชิญแขกเข้าเคารพ โดยเจ้าภาพจัดหาดินเหนียวก้อนเล็ก ๆ ห่อกระดาษดำ และกระดาษขาวใส่ถาดไว้ เพื่อแจกแขกคนละก้อน จะมีดอกไม้ด้วยก็ได้ เมื่อแขกนำดินเหนียวและดอกไม้ไปวางเคารพศพแล้ว เจ้าภาพก็ทอดผ้าบังสุกุลปากหีบศพ และนิมนต์พระสงฆ์ชักผ้าบังสุกุล (หรือทอดผ้าบังสุกุลก่อนเชิญแขกเข้าเคารพศพก็ได้) พระสงฆ์ชักผ้าบังสุกุลแล้วก็เก็บ เป็นอันเสร็จพิธี ผู้จัดการฌาปนสถานก็จัดการปิดที่เก็บหีบศพต่อไป

การฌาปนกิจศพ
การฌาปนกิจศพหรือการเผาศพ เมื่อถึงเวลาที่เจ้าภาพกำหนดแล้ว ก็ติดต่อเจ้าหน้าที่ฌาปนสถาน และออกบัตรเชิญ โดยกำหนดวันเวลาให้ผู้เคารพนับถือทราบทั่วกัน
เมื่อชักศพขึ้นตั้งอย่างที่ทำคราวถึงแก่กรรมแล้ว จะมีพระสวดพระอภิธรรมก่อนฌาปนกิจสัก 3 วัน 7 วันอีกก็ได้ หรือจะทำเพียงวันเดียวก็ได้ แต่ทำกันอยู่ทั่ว ๆ ไปนิยมตั้งศพทำบุญในตอนเช้าวันฌาปนกิจแล้วเพื่อตัดภาระ

ลำดับพิธีฌาปนกิจศพ
09.00 น. - เชิญศพขึ้นตั้งบนศาลาบำเพ็ญกุศล
10.15 น. - นิมนต์พระสงฆ์ประจำที่อาสน์สงฆ์
10.20 น. - เจ้าภาพจุดเทียนธูปพระรัตนตรัย
10.25 น. - อาราธนาพระปริตร
10.30 น. - พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์
11.00 น. - ถวายภัตตาหารเพล
- ถวายเครื่องไทยธรรม
- พระสงฆ์อนุโมทนา
12.00 น. - เลี้ยงอาหารกลางวันญาติมิตร และแขกที่มาในงาน
14.00 น. - นิมนต์พระเทศน์ขึ้นพักบนอาสน์สงฆ์
14.05 น. - เจ้าภาพจุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย เทียนกัณฑ์เทศน์, เทียนธูปหน้าศพ
- อาราธนาศีล, อาราธนาธรรม (เทศน์ธรรมดาหรือเทศน์แจงก็ได้)
14.10 น. - พระสงฆ์แสดงพระธรรมเทศนาจบแล้ว ถวายกัณฑ์เทศน์
15.00 น. - นิมนต์พระสงฆ์ 10 รูป (หรือจำนวนตามแต่นิมนต์) ขึ้นอาสน์สงฆ์พร้อมกัน
- มาติกาบังสุกลุ
15.30 น. - เคลื่อนศพเวียนเมรุ 3 รอบ พระสงฆ์นำศพ 1 รูป
15.45 น. - เชิญศพขึ้นสู่เมรุ
16.00 น. - แถวกองเกียรติยศเข้าที่พร้อมหน้าเมรุ (ถ้าเป็นศพที่ต้องจัดกองเกียรติยศ)
- อ่านคำไว้อาลัย (ถ้ามี) (ท้ายคำไว้อาลัยมียืนไว้อาลัยศพที่มีกองเกียรติยศไม่ต้องเชิญยืนไว้อาลัย)
- เจ้าภาพเชิญแขกผู้ใหญ่ทอดผ้าบังสุกุล โดยจัดลำดับจากผู้มีอาวุโสน้อยไปหาผู้มีอาวุโสขึ้นไปตามลำดับ
- ประธานในพิธีทอดผ้าบังสุกุลหน้าศพ
- ประธาน ฯ (กรณีพระราชทานเพลิงศพ ให้ถวายคำนับยังทิศที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับ ฯ
ในวันนั้น) วางกระทงดอกไม้ (เครื่องขมา)
- เป่าแตรนอน 1 จบ (กรณีจัดกองเกียรติยศ)
- เจ้าหน้าที่เพลิงหลวงส่งธูปเทียน และดอกไม้จันทน์ให้ประธาน ฯ (ทำในเขตกรุงเทพ ฯ)
- ประธาน ฯ ลงจากเมรุ
- เจ้าภาพเชิญแขกขึ้นประชุมเพลิง
- เสร็จพิธี
หมายเหตุ - ตามตัวอย่างนี้เป็นศพทหารซึ่งต้องมีกองเกียรติยศ ถ้าเป็นศพไม่มีกองเกียรติยศ
ก็ต้องตัดรายการเกี่ยวกับกองเกียรติยศออก
- ศพที่มีกองเกียรติยศ ไม่ต้องเชิญยืนไว้อาลัยหลังอ่านคำไว้อาลัย
- รายการนี้สมมติขึ้นเต็มอัตรา ซึ่งยังย่อส่วนได้เพื่อการประหยัด เช่น
ตัดพิธีสวดมนต์เลี้ยงพระตอนเช้าออกได้ คงเหลือพิธีเทศน์มาติกาบังสุกุลตอนบ่าย
- และตัวอย่างนี้ตั้งศพทำบุญที่วัด ถ้าตั้งศพทำบุญที่บ้านก่อน แล้วเคลื่อนศพมาที่วัดในวันนั้น
ก็เดินเวียนเมรุแล้วนำศพขึ้นเมรุต่อไป
- เวลาเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม
- หากมีผ้าทอดจำนวนหลายผืน จะเชิญญาติและแขกผู้ใหญ่ทอดก่อนอ่านคำไว้อาลัยก็ได้
โดยเหลือไว้สำหรับประธาน ฯ 1 ผืน หรือ 1 ไตร
การเก็บอัฐิ
เมื่อจัดการฌาปนกิจเสร็จแล้ว การเก็บอัฐิ บางรายในตอนเย็นวันเผาเลย ทั้งนั้น เพื่อจะฉลองเสร็จในคราวเดียวกัน โดยเก็บอัฐิในเวลาประมาณ 19.00 น. แล้วนำไปตั้งบำเพ็ญกุศลเช่นเดียวกับพิธีก่อนเผาในคืนวันนั้น เวลาประมาณ 20.00 น. นิมนต์พระสวดพระพุทธมนต์ รุ่งขึ้นถวายภัตตาหารเช้า แล้วนำอัฐิไปบรรจุหรือเก็บกลับบ้าน ก็เป็นเสร็จพิธี แต่ส่วนมากเก็บอัฐิในวันรุ่งขึ้น เช่นเดียวกับพิธีทางราชการ
สำหรับชนบทบางที่ นิยมเก็บในวันที่ 7 จากวันเผา แล้วนำไปบำเพ็ญกุศลดังกล่าวมา
การเดินสามหาบ
การเดินสามหาบ ก็คือ พิธีเก็บอัฐินั่นเอง แต่เป็นพิธีเก็บอัฐิแบบเต็มหรือแบบพิเศษ ซึ่งก็มีอยู่หลายรูปแบบ ซึ่งจะกล่าวต่อไป
รุ่งขึ้นเช้า เจ้าภาพไปเก็บอัฐิ เตรียมเครื่องบูชาและเครื่องสามหาบไปด้วย คือ เครื่องทองน้อย (ธูป 1 เทียน 1 ใส่เชิงเล็กและดอกไม้ทำเป็น 3 พุ่ม) 1 ที่, สุหร่าย (ขวดโปรยน้ำ) ใส่น้ำอบไทย 1 ขวด พานใส่เงิน (เศษสตางค์) 1 พาน และที่ที่จะใส่อัฐิ ของเหล่านี้วางไว้ตรงข้างศีรษะอัฐิ
เมื่อพร้อมกันแล้วก็ตั้งต้นเดินสามหาบ คือ มีของไปถวายพระ เลี้ยงพระ 3 ชุด ชุดที่หนึ่งมีไตรครอง เป็นประเภทเครื่องนุ่งห่ม ชุดที่สองที่มีสำรับคาว 1 หวาน 1 เป็นเครื่องกิน ชุดที่สามมีหม้อข้าวเตาไฟเครื่องใช้
หรือจะจัดสามหาบอีกหนึ่งก็ได้คือ จัดให้มีหม้อข้าวเชิงกราน และพริก หอม กระเทียม ฯลฯ อยู่ในสาแหรกข้างหนึ่ง สาแหรกอีกข้างหนึ่งมีของคาวหวาน และเหมือนกันอย่างนี้ทั้งสามหาบ จัดให้บุตรหลานหรือเครือญาติ 3 คน เป็นผู้หาบคนละหาบ
หรือสามหาบอีกแบบหนึ่ง จัดคนขึ้น 9 คน แบ่งเข้าชุด 3 คน ต่อ 1 ชุด ชุดหนึ่ง ๆ มีดังนี้คือ ถือไตร 1 คน, ถือจาน ช้อนซ่อม แก้วน้ำ 1 คน, หาบสำรับคาวหวาน 1 คน จัดอย่างนี้ทั้ง 3 ชุด เดินเวียนเมรุคนละหรือชุดละ 3 รอบ เวลาเดินให้กู่กันด้วยตามวิธีชาวป่า เรียกกันว่า "วู้ ๆ ๆ" คนและ 3 ครั้ง แล้วจึงนำสามหาบขึ้นตั้งยังอาสน์สงฆ์
เมื่อเดินสามหาบแล้วก็ขึ้นไปเก็บอัฐิ จุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัยแล้ววางไตร 3 ไตรบนผ้าคลุมอัฐินั้น แล้วนิมนต์พระสงฆ์ขึ้นไปชักผ้าบังสุกุลนั้น จากนั้นจึงเปิดผ้าคลุมออกพรมน้ำอบ และเก็บอัฐิใส่ที่ที่เตรียมไว้ แล้ววางบนพาน ส่วนเถ้าถ่านคือ อังคารรวบรวมใส่ผ้าขาวที่รองนั้น รวบชายขึ้นห่อใส่ในที่ใส่อังคารที่เตรียมไป แล้วเชิญอัฐิและอังคารกลับลงมาตั้งที่ทำบุญ เลี้ยงพระสามหาบและบังสุกุล แล้วก็เป็นอันเสร็จงาน หรือถ้าไม่มี 3 หาบ ก็เก็บอัฐิอังคารและบังสุกุล ณ ที่นั้น เป็นอันเสร็จพิธี ตอนที่ลงจากเมรุแล้วขึ้นบันไดบ้าน เมื่อถึงบ้านนั้น เจ้าภาพจะโปรยเศษสตางค์เป็นการให้ทานด้วย
แปรธาตุ
ประเพณีเกี่ยวกับการเก็บอัฐิมีอยู่ว่า เมื่อถึงเวลาเก็บอัฐิ จะเป็นในวันเผา หรือในวันรุ่งขึ้น หรือ 3 วัน 7 วัน หลังจากเผาเสร็จก็ตาม ครั้งแรกให้ทำกองกระดูกให้เป็นรูปคนนอนหงาย หันศีรษะไปทางทิศตะวันตก สมมติว่าตาย แล้วนิมนต์พระมาบังสุกุล ตอนนี้เรียกว่า "บังสุกุลตาย" จะมีผ้าทอดก็ได้ หรือไม่มีก็ได้ พระสงฆ์จะพิจารณาว่า "อนิจฺจา วต สงฺขารา อุปปาทวยธมฺมิโน อุปปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺ ติ เตสํ วูปสโม สุโข" เมื่อพระพิจารณาจบแล้ว ก็ให้ทำรูปอัฐินั้นใหม่ เป็นรูปคนหันศีรษะไปทางทิศตะวันออก สมมติว่าเกิด แล้วเจ้าภาพก็ใช้น้ำหอมประพรมโปรยด้วยดอกไม้และเงินทอง นิมนต์พระสงฆ์บังสุกุลอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้เรียกว่า "บังสุกุลเป็น" พระสงฆ์บังสุกุลว่า "อจิรํ วตยํ กาโย ปฐวึ อธิเสสฺสติ ฉุฑฺโฑ อเปตวิญฺญาโณ นอรตฺถํ วกลิงฺครํ" แล้วทำการเก็บอัฐิ
เมื่อเก็บอัฐิตามต้องการแล้วอัฐิที่เหลือรวมทั้งเถ้าถ่านก็รวบรวมไปบรรจุ, ทิ้งแม่น้ำหรือฝังในที่เหมาะสมต่อไป
ทำบุญอัฐิ(ออกทุกข์)
เมื่อเก็บอัฐิเสร็จตอนเช้า และนำอัฐิไปถึงบ้านแล้ว จะทำบุญในวันนั้นทีเดียว หรือจะพัก 3 วัน หรือ 7 วัน จึงทำก็ได้ รายการมีสวดมนต์เลี้ยงพระสงฆ์ บังสุกุล เทศน์ มีตักบาตรน้ำมนต์ เดินสายสิญจน์ เพราะเป็นการทำบุญเรือนให้เป็นสิริมงคลแก่ผู้อยู่ข้างหลัง ในการทำบุญอัฐิ (ออกทุกข์) เจ้าภาพแต่งกายสีต่าง ๆ จากสีขาว - ดำได้
หลักเกณฑ์การจัดกองทหารเกียรติยศสำหรับศพทหารซึ่งเสียชีวิตในขณะประจำการ
การปฏิบัติของประธาน และผู้เข้าร่วมพิธี ในพิธีต่าง ๆ และระเบียบปฏิบัติราชการบางเรื่องที่ควรทราบ และถือปฏิบัติดังต่อไปนี้
โอกาสในการจัดกองทหารเกียรติยศ
สำหรับทหารซึ่งเสียชีวิตในขณะประจำการนั้น ให้จัดกองทหารเกียรติยศเมื่อเวลาเผาหรือฝัง ตามลัทธิศาสนาของผู้เสียชีวิต แต่ให้งดจัดสำหรับศพทหาร ซึ่งเสียชีวิตเนื่องจากตนเองกระทำความผิด หรือประพฤติชั่ว
การจัดกำลังของกองทหารเกียรติยศ กรณีศพทหารเมื่อเวลาเผาหรือฝัง ให้จัดกำลังดังนี้
ศพทหารชั้นนายพันขึ้นไป ให้จัดกำลัง 1 กองร้อย (3 หมวด) ถือปืนเล็กล้วน มีแตรเดี่ยว และแตรวง (ถ้ามี)
ศพทหารชั้นนายร้อย ให้จัดกำลังกึ่งกองร้อย (2 หมวด) ถือปืนเล็กล้วน มีแตรเดี่ยว
ศพนายทหารชั้นประทวน และศพนักเรียนทหาร ซึ่งเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว จะได้เป็นนายทหารสัญญาบัตร ให้จัดกำลัง 1 หมวด (2 หมู่) ถือปืนเล็กล้วน มีแตรเดี่ยว
ศพพลทหาร และศพนักเรียนทหาร ซึ่งเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว จะได้เป็นนายทหารประทวน ให้จัดกำลัง 1 หมู่ (10 คน) ถือปืนเล็กล้วน มีแตรเดี่ยว
กรณีการจัดกองทหารเกียรติยศสำหรับศพทหารนั้น ถ้ามีหลายศพในที่เดียวและเวลาเดียว ซึ่งจะต้องทำการเคารพศพพร้อมกัน ให้จัดกำลังตามอัตราของศพที่มียศสูง แต่เพียงรายเดียว นอกจากนั้นการจักกองทหารเกียรติยศสำหับศพทหาร ให้พยายามจัดทหารจากหน่วย หรือเหล่าเดียวกับผู้เสียชีวิต หรือจัดจากหน่วยที่ผู้เสียชีวิตเคยบังคับบัญชา หรือเคยประจำมาแต่ก่อน
การแต่งเครื่องแบบของกองทหารเกียรติยศสำหรับศพทหาร ให้แต่เครื่องแบบฝึกสวมถุงมือสำหรับนายทหารชั้นจ่านายสิบขึ้นไป ให้คาดกระบี่ โดยมีลายละเอียดของเครื่องแต่งกายเช่นเดียวกับของทหารเกียรติยศ ในการต้อนรับ และส่งผู้บังคับบัญชาของทหาร ดังนี้
รองในหมวกเหล็กสีกากีแกมเขียว มีสายรักคางหนังสีขาว
เสื้อคอเปิดสีกากีแกมเขียว และผ้าพันคอสีน้ำเงินอ่อน ยกเว้นทหารซึ่งจัดเป็นกองทหารเกียรติยศ ที่สังกัด รร.จปร.ใช้ผ้าพันคอบานเย็น
กางเกงขายาวสีกากีแกมเขียวแบบฝึก
เข็มขัดหนังสีขาว หัวเข็มขัดทำด้วยโลหะสีทอง เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าทางนอนปลายมน พื้นเกลี้ยงมีรูปเครื่องหมายกองทัพบก ดุนนูนอยู่กึ่งกลางหัวเข็มขัด
รองเท้าสูงครึ่งน่องหนังสีดำ ชนิดผูกเชือก
สายนกหวีดทำด้วยด้ายถักหรือไนล่อนถักสีขาว ลักษณะเป็นสายถัก 4 สาย และสายเกลี้ยง 1 สาย โดยสายถัก 2 สาย เป็นบ่วงคล้องใต้แขนซ้าย ส่วนสายถัก 2 สายทำเป็นบ่วงขนาดใหญ่ และเล็กห่างกันพองาม พาดต้นแขนซ้าย ปลายสายเกลี้ยงให้ติดตุ้มโลหะสีทอง 1 ตุ้ม เมื่อใช้สายนกหวีดนี้ไม่ใช้สายยงยศอย่างอื่นอีก
ซองกระบี่ หรือซองดาบทำด้วยหนังสีขาว
ถุงมือสีขาว
สายสะพายปืนทำด้วยหนังสีขาว
สำหรับกองทหารเกียรติยศสำหรับศพทหาร ให้ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ด้วย
การปฏิบัติของกองทหารเกียรติยศสำหรับศพทหารในงานพระราชทานเพลิงศพ หรืองานฝังศพทหาร
การแสดงความเคารพของกองทหารเกียรติยศ
กองทหารเกียรติยศซึ่งจัดไปเคารพศพ ให้แสดงการเคารพศพในเวลาเผา หรือฝังโดยให้แตรเดี่ยวเป่าเพลงนอน 1 จบ แล้วให้หน่วยทหารเคารพศพกระทำวันทยาวุธ แตรวงหรือแตรเดี่ยวบรรเลงเพลงเคารพ เมื่อจบแล้วทำเรียบอาวุธ คงอยู่ในท่าตรง ถ้ามีแตรวงให้บรรเลงเพลงโศก 1 จบ จึงเสร็จการปฏิบัติ
การปฏิบัติของกองทหารเกียรติยศ และผู้ที่ได้รับเชิญให้เป็นประธานในงานพระราชทานเพลิงศพทหาร
ผบ.กองทหารเกียรติยศ นำกองทหารเกียรติยศเข้าประจำที่แล้วสั่งแถวเรียบอาวุธ และให้กองทหารเกียรติยศหันเข้าหาศพ เสร็จแล้ว ผบ.กองทหารเกียรติยศสั่งติดดาบและยืนรอเวลาจนกว่าพิธีกรอ่านประกาศเกียรติคุณ (ประวัติโดยย่อ) ของผู้ที่ได้รับพระราชทานเพลิงศพเจ้าภาพจะเชิญผู้บังคับบัญชา หรือผู้เป็นประธานในพิธีของงานพระราชทานเพลิงศพให้ขึ้นเมรุ เพื่อจะทอดผ้ามหาบังสุกุลเมื่อประธานในพิธี ฯ ได้ทอดผ้ามหาบังสุกุล และลงจากเมรุแล้วประธานในพิธีฯ ต้องหันหน้าไปทางทิศที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับ ถวายคำนับแล้วรับเครื่องขมาศพ (กระทงข้าวตอก และกระทงดอกไม้) จากพนักงานพระราชพิธีของสำนักพระราชวัง ไปวางที่ฐานฟืนหน้าหีบศพ ขณะที่ประธานฯ วางกระทงข้าวตอก ดอกไม้ ผบ.กองทหารเกียรติยศจะสั่งให้กองทหารเกียรติยศจะสั่งให้กองทหารเกียรติยศแถวตรง แตรเดี่ยวเป่าเพลงนอน 1 จบ จบแล้วประธานฯ หยิบธูปเทียน ตอกไม้จันทน์ จุดเพลิงพระราชทานจากโคมไฟที่เจ้าพนักงานพระราชทานถือเชิญไปสอดวางลงในใต้พื้นรองศพ ผบ.กองทหารเกียรติยศ จะสั่งให้กองทหารเกียรติยศแสดงความเคารพ โดยใช้คำบอกว่า “ตรงหน้า ระวัง วันทยาวุธ” แตรเดี่ยวเป่าเพลงเคารพ 1 จบ ประธานในพิธีฯ คำนับศพ 1 ครั้ง แล้วหันหน้าไปทางทิศที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ ถวายคำนับ 1 ครั้ง แล้วเดินลงจากเมรุ จากนั้นผบ.กองทหารเกียรติยศ จะสั่งเรียบอาวุธ ปลดดาบ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงโศก 1 จบ และสั่งให้กองทหารเกียรติยศทำซ้ายหรือขวาหันแบกอาวุธ แล้วเดินออกจากพื้นที่ จึงเสร็จการปฏิบัติ
การปฏิบัติของกองทหารเกียรติยศและผู้ที่ได้รับเชิญให้ประธานในงานเผาศพทหาร
การปฏิบัติของกองทหารเกียรติยศ ในงานเผาศพทหาร จะมีขั้นตอนคล้ายคลึงกับการปฏิบัติในงานพระราชทานเพลิงยศทหาร ในข้อ 4.2 ทั้งในส่วนของประธานและของกองทหารเกียรติยศ ยกเว้น ประธานในพิธีของงานไม่ต้องถวายคำนับ และรับเครื่องขอขมาศพจากพนักงานพระราชพิธีของสำนักพระราชวังไปวางที่ฐานพื้นหน้าหีบศพ
นอกจากทหารซึ่งเสียชีวิตในขณะประจำการ หรือในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ราชการจะได้รับการจัดกองทหารเกียรติยศ สำหรับศพทหารในเวลาเผาศพหรือฝังศพแล้ว เมื่อเวลาประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลทางศาสนา กห. ยังได้จัดให้มียามเกียรติยศศพทหารแก่ทหาร ซึ่งเสียชีวิติในการรบ หรือเนื่องจากการรบ หรือซึ่งเสียชีวิตในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ราชการในกรณีอื่น ซึ่งทางราชการพิจารณาเห็นว่า เป็นผู้ประกอบคุณงามความดี สมควรยกย่องเชิดชูเกียรตินั้น โดยจัดให้มียามคู่ 1 คู่ หรือ 2 คู่ ยืนเป็นผลัดประจำตลอดเวลาที่บำเพ็ญกุศล และให้เริ่มก่อนพิธีประมาณ 30 นาที และเลิกเมือการบำเพ็ญกุศลเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ตายที่ได้เสียสละอย่างสูง และให้ประชาชนทั่วไปได้ทราบด้วย
การแต่งกายของยามเกียรติยศศพทหารนี้ ให้แต่งกายด้วยเครื่องแบบฝึก สวมรองในหมวกเหล็ก ถืออาวุธประจำกายในท่าสำรวม และแสดงความอาลัยโดยตั้งพานท้ายปืนขึ้นข้างบน มือทั้งสองประสานวางบนพานท้ายปืน
ก้มหน้ามองพื้นในทิศทางตรงหน้า หันหน้าไปยังทางที่ตั้งศพ
อนึ่ง ทหารที่เสียชีวิตเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการ และการเสียชีวิตนั้นมิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อ อย่างร้ายแรง หรือเกิดจากความผิดของตนเองแล้ว ยังได้รับเกียรติให้ใช้ธงชาติคลุมหีบศพ เมื่อจะเชิญศพไปทำพิธีพระราชทานน้ำอาบศพ หรือพิธีรดน้ำศพ หรือในระหว่างการทำพิธีบำเพ็ญกุศลทางศาสนาของแต่ละศาสนา และการเชิญศพไปฝังอีกด้วย และการใช้ธงชาติคลุมศพและหีบศพให้ปฏิบัติดังนี้
การคลุมศพ คลุมศพตามความยาวของศพ ให้ขอบธงชาติด้านคันธงชาติอยู่ทางศีรษะของศพ
การคลุมหีบศพ คลุมทางด้านขวางของหีบศพให้ชายธงชาติเสมอกับของล่างของหีบศพทั้งสองข้าง
ระเบียบงานศพ
ตั้งแต่โบราณกาลมา พระบรมวงศานุวงศ์ พระราชาคณะ ข้าราชการ เมื่อสิ้นพระชนม์ มรณภาพ หรือถึงแก่กรรม จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานน้ำอาบศพ และเครื่องประกอบเกียรติยศศพ เช่น โกศ หีบ เป็นต้น เมื่อถึงเวลาที่จะทำการเป็นฌาปนกิจศพ ก็พระราชทานดอกไม้ธูปเทียน และไฟหลวงไปเผาศพผู้ที่จะได้รับพระราชมานเกียรติยศ ในปัจจุบันนี้ได้วางระเบียบไว้ว่า ผู้ที่จะได้รับพระราชทานน้ำอาบศพ เครื่องประกอบเกียรติยศศพ และพระราชทานเพลิงศพมีดังนี้ :-
ผู้ถึงแก่กรรมมีสิทธิขอรับพระราชทานน้ำอาบศพ เครื่องประกอบเกียรติยศศพ และขอพระราชทานเพลิงศพ คือ
1. พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ตั้งแต่พระครูสัญญาบัตรขึ้นไป
2. พระบรมวงศานุวงศ์ ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป
3. ผู้ที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์รองเสวกตรี หรือรองอำมาตย์ตรีขึ้นไป
4. ข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นตรีขึ้นไป
5. ข้าราชการฝ่ายทหาร และตำรวจชั้นร้อยตรี ร้อยตำรวจตรีขึ้นไป
6. สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนที่ได้รับพระราชทานยศ ตั้งแต่ชั้นนายหมวดขึ้นไป
7. ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตั้งแต่ชั้นเบญจมาภรณ์มงกุฎไทย หรือตติยานุจุลจอมเกล้า หรือจตุตถจุลจอมเกล้าขึ้นไป
8. ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลปัจจุบัน
9. พนักงานเทศบาลตรีขึ้นไป
10. สมาชิสภาผู้แทนราษฎร สามาชิกวุฒิสภา สามาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภาเทศบาล ที่ถึงแก่กรรมในขณะดำรงตำแหน่ง
11. รัฐมนตรีที่ถึงแก่กรรมในขณะดำรงตำแหน่ง
12. ผู้ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ เป็นกรณีพิเศษ
ผู้ที่เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สามาชิกวุฒิสภา สามาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภาเทศบาล หรือรัฐมนตรี เมื่อถึงแก่กรรม เมื่อพ้นตำแหน่งแล้ว หากได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดังกล่าว ก็ขอพระราชทานเครื่องประกอบเกียรติยศศพได้
ในการที่จะขอพระราชทานเครื่องเกียรติยศศพได้ ผู้ถึงแก่กรรมจะต้องถึงแก่กรรมโดยไม่ใช่อัตวิบาตกรรม
ผู้จะขอพระราชทานน้ำอาบศพ และเครื่องประกอบเกียรติยศศพ จะได้รับพระราชทานเมื่อการศพนั้นจัดในจังหวัดกรุงเทพมหานคร
ผู้ที่ประสงค์จะขอพระราชทานน้ำอาบศพ และเครื่องประกอบเกียรติยศ จะต้องปฏิบัติดังนี้
นำดอกไม้ธูปเทียนพร้อมทั้งหนังสือกราบถวายบังคมลาไปยังสำนักพระราชวัง พร้อมทั้งในมรณบัตร ซึ่งสำนักงานพระราชวังได้จัดที่ประดิษฐานพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ไว้ (ภาพถ่ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นต้น ราชาศัพย์ " พระบรมฉายาลักษณ์" หรือ "พระบรมสาทิสลักษณ์" ก็ได้) ดอกไม้ธูปเทียนที่ใช้มนการนี้ ประกอบด้วยธูปไม้ระกำ 1 ดอก, เทียนขี้ผึ้ง 1 เล่ม, ดอกไม้ 1 กระทง, วางบนพาน และมีคำกราบบังคมทูลตามแบบต่อไปนี้
วันท........ เดือน........ พ.ศ. .......... ขอเดชะ ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม
ดอกไม้ธูปเทียนของข้าพระพุทธเจ้า......... (ชื่อผู้ถึงแก่กรรม)......... ราชอิสริยาภรณ์......... อายุ...... ปี ข้าราชการ... ชั้น......... สังกัด..........................
ขอพระราชทานกราบถวายบังคมลา.......... ด้วยโรค............. ที่อำเภอ......... จังหวัด............... เมื่อวันที่......... เดือน............ พ.ศ......... เวลา......
ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ขอเดชะ
หนังสือข้างตนนี้ไม่ต้องลงนาม ผู้นำไป นำขึ้นวางบนพานเบื้องหน้าพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ พร้อมกับดอกไม้ธูปเทียนแล้วถวายความเคารพ เสร็จแล้วเจ้าหน้าที่จะสอบถามรายการต่าง ๆ และกรอกลงในแบบพิมพ์ ในการถึงแก่กรรมนี้ จะไม่ขอพระราชทานน้ำอาบศพ และเครื่องประกอบเกียรติยศศพ จะขอพระราชทานในตอนฌาปนกิจศพก็ได้
ถ้าจะตั้งศพที่วัด การติดต่อวันและการติดต่อเทศบาล เป็นหน้าที่ของเจ้าภาพดำเนินการเอง
ในการขอพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ และเครื่องประกอบเกียรติยศศพนั้น เข้าใจกันว่า จะต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด คำว่า "พระราชทาน" ก็เป็นที่ควรเข้าใจแล้วว่าย่อมไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ค่าใช้จ่ายส่วนที่เจ้าภาพจะต้องจ่าย ก็เป็นส่วนนอกออกไปจากที่ได้รับพระราชทาน เช่น ค่าซื้อหีบลองใน ค่าผ้าขาวด้ายดิบ ค่าตั้งศพที่วัด ส่วนเครื่องประกอบเกียรติยศ ตลอดจนเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังที่ไปปฏิบัติพิธีนั้น เจ้าภาพไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใด ๆ ทั้งสิ้น ถึงแม้จะเก็บศพไว้นานวัน ถ้าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขอรับหีบ หรือโกศลองนอกไปประกอบศพอื่นดังกล่าวข้างต้นแล้ว สำหรับพระราชวังก็ไม่มาถอนหีบหรือโกศลองนอกออกไป และไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมหีบโกศแต่ประการใดเลย
เมื่อไปกราบถวายบังคมลา และแจ้งรายการเจ้าหน้าที่แล้ว เจ้าภาพก็นำศพไปยังที่อาบน้ำ เมื่อนำศพไปไว้บนเตียงอาบน้ำแล้ว ก็เปิดโอกาสให้ผู้ที่ประสงค์จะอาบน้ำศพเข้าอาบได้ จนถึงเวลาที่จะพระราชทานน้ำหลวง ซึ่งเป็นสุดท้าย ต่อจากนั้น เจ้าหน้าที่ก็จะได้ทำสุกำศพ
ใกล้เวลาพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังก็เชิญน้ำพระราชทานไป ซึ่งประกอบด้วยน้ำ น้ำหอม และน้ำขมิ้น
เมื่อถึงเวลาจะรับพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ เจ้าภาพก็เชิญผู้มีอาวุโส ซึ่งอยู่ในขณะนั้น หรือผู้ที่เจ้าภาพกำหนดตัวไว้เข้าไปพระราชทานน้ำ เป็นที่นิยมกันว่า ก่อนที่ผู้เป็นประธาน จะอาบน้ำศพ ให้บ่ายหน้าไปทางทิศ ซึ่งเป็นที่ประทับแรม ถวายคำนับ แล้วจึงปฏิบัติการต่อไป เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังจะส่งสิ่งของให้ตามลำดับ คือ น้ำ น้ำหอม น้ำขมิ้น ผู้เป็นประธาน รดน้ำนั้นที่ศพโดยเริ่มจากบ่าขวาเฉียงลงมาตามอก ไม่ต้องรดจนหมดก็ได้ เมื่อรดน้ำขมิ้นแล้วให้บ่ายหน้าไปถวายคำนับอีกครั้ง เจ้าหน้าที่จะวางศพลงในท่านอนตามเดิม ต่อจากนั้น ทายาทผู้ถึงแก่กรรมก็เข้าไปหวีผมให้ศพ การหวีผมตามประเพณีก็หวีลงแล้วหวีขึ้น แต่จะหวีอย่างธรรมดาก็ได้ ต่อจากนั้น เจ้าหน้าที่จะสุกำศพ
เมื่อทำกุกำศพเสร็จแล้ว เจ้าหน้าที่จะยกหีบศพหรือโกศขึ้นตั้งผู้ที่อยู่ ณ ที่นั้น ควรยืนแสดงการเคารพ แล้วตั้งแต่เครื่องประดับ และเครื่องประกอบเกียรติยศศพ
ที่ตั้งนั้นไม่ควรจัดดอกไม้วางไว้บนฝาหีบศพ และไม่ควรจัดดอกไม้ประดับที่หีบศพ เพราะเป็นหีบเกียรติยศอยู่แล้ว ที่หน้าศพไม่ต้องตั้งชั้นลดหรือวางหมอนสำหรับกราบศพ (รวมทั้งไม่ตั้งชั้นลดหน้าโต๊ะพระพุทธรูปด้วย) ถ้าจะจัดเป็นที่กราบก็ควรปูพรมเล็ก ๆ ไว้บนพรมใหญ่อีกชั้นหนึ่ง และไม่ต้องตั้งกระถางธูปสำหรับผู้ไปเคารพศพปักธูป หากศพนั้นเป็นศพเกียรติยศ ก็จะสวดพระอภิธรรมเสียจบหนึ่งก่อน แล้วจึงบังสุกุล หรือสดับปกรณ์ส่วนของเจ้าภาพ
การสวดพระอภิธรรม
ศพที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตั้งแต่ประถมาภรณ์ช้าางเผือกขึ้นไป นอกจากเครื่องประกอบเกียรติยศศพดังได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังทรงพระกรุราโปรดเกล้า ฯ ให้มีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมด้วย จะพระราชทานให้มีสวดกี่คืน สุดแล้วแต่ระดับเกียรติยศศพของผู้ถึงแก่กรรม
พระที่จะสวดพระอภิธรรมมี 4 รูป การที่กำหนด 4 รูปนั้น เป็นจำนวนน้อยที่สุดของพระสงฆ์ พระภิกษุ 4 รูป จึงจะเป็นสงฆ์ โดยที่เป็นธรรมเนียมนิมนต์พระสงฆ์สวดพระอภิธรรม จะต้องเป็น 4 รูป งานต่าง ๆ จึงไม่นิยมนิมนต์พระสงฆ์ 4 รูป ความจริงไม่ใช่ข้อห้าม หรือกฎเกณฑ์อะไร งานใด ๆ จะนิมนต์พระเพียง 4 รูป ก็ได้ที่นิยมนิมนต์พระสงฆ์ 5 รูปขึ้นไป ก็เป็นเพียงการเสี่ยงไม่ให้เหมือนสวดพระอภิธรรมศพเท่านั้น
การสวดพระอภิธรรม แต่ก่อนนี้ มีถวายภัตตาหารเช้าวันรุ้งขึ้นด้วย แต่ปัจจุบันนี้ไม่มีถวายภัตตาหาร คงถวายปัจจัยแทน ศพที่ได้รับพระราชทานพระพิธีธรรม สวดพระอภิธรรม ก็ได้รับพระราชทานเงินสำหรับถวายด้วย พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่จะจัดเครื่องใช้สักการะสำหรับเจ้าภาพจุดบูชาพระ ทำการสวดพระอภิธรรมด้วย ทั้งนี้เป็นการพระราชทาน เจ้าภาพไม่ต้องเสียค่าใช่จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น