พิธีทำบุญทั่วไป
พิธีทำบุญในที่นี้ จะพูดถึงพิธีทำบุญทั่ว ๆ ซึ่งเป็นกิจเบื้องต้นที่พุทธศาสนิกจะพึงทราบ และนำไปปฏิบัติได้ ส่วนจะผิดแผกแตกต่างกันไปบ้าง ก็สุดแต่ความนิยมของแต่ละท้องถิ่น พิธีทำบุญในศาสนาพุทธ สรุปแล้วมี 2 พิธี คือ.-
ก. พิธีทำบุญในงานมงคล เป็นการทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคล ความสุขความเจริญ เช่น พิธีแต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ และวันเกิด เป็นต้น
ข. พิธีทำบุญในงานอวมงคล เป็นการทำบุญเพื่อปัดเป่าความชั่วร้ายให้หมดไป โดยปรารถนาถึงเหตุที่มาไม่ดี หรือเหตุที่ก่อให้เกิดความทุกข์โศก เช่น พิธีศพ พิธีทำบุญในการที่แร้งจับบ้าน รุ้งกินน้ำในบ้าน เป็นต้น
ทั้ง 2 พิธี มีพิธีกรรมที่จะต้องปฏิบัติโดยย่อ ๆ ดังนี้
1. จัดสถานที่ ก่อนถึงวันพิธี จะต้องตบแต่งสถานที่รับรองพระที่เจริญพระพุทธมนต์ และแขกที่จะมาในงาน ตลอดจนเครื่องใช้แต่ละแผนก ให้เรียบร้อย
โดยเฉพาะที่พระสงฆ์ ต้องจัดให้อยู่ในฐานะที่น่าเคารพเสมอ โดยจัดที่บูชาไว้ทางขวามือของพระที่จะสวดมนต์ และให้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก (ถ้าที่จำกัดก็เว้นได้) และอาสนะพระนั้น ต้องจัดให้เป็นส่วนหนึ่งต่างหากจากฆราวาสโดยเฉพาะผู้หญิง แล้วตั้งกระโถน ภาชนะน้ำ พานหมากพลู ไว้ทางขวามือของพระสงฆ์ โดยตั้งกระโถนไว้ข้างในแล้วเรียงออกมาตามลำดับ
2. เครื่องสักการะ หมายถึง โต๊ะหมู่หรือที่บูชาอื่นใดตามฐานะอันประกอบด้วย พระพุทธรูป 1 องค์, แจกัน 1 คู่,
เชิงเทียน 1 คู่, กระถางธูป 1 ที่ เป็นอย่างน้อย อย่างมากจะจัดให้เต็มที่ตามรูปแบบการจัดของโต๊ะหมู่ 5,7 หรือ 9 เป็นต้น ก็ได้
3. ด้ายสายสิญจน์, บาตรน้ำมนต์ ในงานมงคลทุกชนิด นิยมวงด้ายสายสิญจน์รอบบ้านหรือสถานที่ แต่จะย่อลงมาแค่ที่พระสวดมนต์ก็ได้ การวางด้วยสายสิญจน์ ให้ถือเวียนขวาไว้เสมอ ถ้าจะวงรอบบ้านด้วย ก็ให้เริ่มต้นที่โต๊ะหมู่บูชา แล้วเวียนออกไปที่รั้วบ้านหรือตัวบ้านทางขวามือ (เวียนแบบเลข 1 ไทย) เมื่อวงรอบแล้วกลับมาวงรอบที่ฐานพระพุทธรูป วงไว้กับฐานพระพุทธรูปแล้วมาวงที่บาตรน้ำมนต์ เสร็จแล้วหาพานวางด้ายสายสิญจน์ที่เหลือไว้ใกล้ ๆ บาตรน้ำมนต์นั้น เพื่อให้พระสงฆ์ใช้ประกอบการเจริญพระพุทธมนต์ต่อไป
บาตรน้ำมนต์ให้ใส่น้ำพอควร จะใส่ใบเงิน ใบทอง ใบนาก หญ้าแพรก ผักส้มป่อย ผิวมะกรูด ฯลฯ ก็ได้ สุดแต่จะนิยม ไม่ใส่อะไรเลยก็ได้ เพราะพระพุทธมนต์ที่พระสวดเป็นของประเสริฐอยู่แล้ว และตั้งไว้ทางขวามือของพระสงฆ์ที่เป็นประฐาน ติดเทียนน้ำมนต์ไว้ที่ขอบบาตร 1 เล่ม จะหนัก 1 บาท หรือ 2 บาท ก็ได้ แต่ควรให้ไส้ใหญ่ ๆ ไว้เพื่อกันลมพัดดับด้วย และเมื่อพระสงฆ์ดับเทียนน้ำมนต์แล้ว ห้ามจุดอีกต่อไป ซึ่งถือว่าเป็นการดับเสนียดจัญไรไปหมดแล้ว มิให้เกิดขึ้นมาอีก
ส่วนในพิธีศพ ตั้งแต่ถึงแก่กรรมจนกระทั่งเผา ไม่มีการวางด้ายสายสิญจน์และตั้งบาตรน้ำมนต์ หลังจากเผาศพเสร็จแล้วจะทำบุญอัฐิจึงกระทำได้
4. การนิมนต์พระ เจ้าภาพจะต้องแจ้ง วันเดือนปี และพิธีที่จะกระทำให้พระสงฆ์ทราบเสมอ เพราะบทสวดมนต์จะเพิ่มเติมตามโอกาสที่ทำบุญไม่เหมือนกัน ส่วนจำนวนพระสงฆ์นั้นมีแน่นอน เฉพาะพระสวดพระอภิธรรม สวดรับเทศน์ และสวดหน้าไฟเท่านั้นคือ 4 รูป นอกนั้นแล้ว ถ้าเป็นงานมงคล พระสงฆ์ที่สวดมนต์ (เจริญพระพุทธมนต์) ก็นิยม 5 รูป, 7 รูป, 9 รูป, 10 รูป โดยเหตุผลว่า ถ้าเป็นงานแต่งงานซึ่งนิยมคู่ จะนิมนต์พระ 5 รูป, 7 รูป, 9 รูป, โดยรวมพระพุทธรูปเข้าอีก 1 องค์ เป็น 6 รูป, 8 รูป, 10 รูป ก็ได้เหมือนกัน ส่วนพิธีหลวงใช้ 10 รูป เสมอ
สำหรับพิธีสดับปกรณ์ มาติกา บังสุกุล ก็เพิ่มจำนวนพระสงฆ์มากขึ้นอีกเป็น 10, 15, 20, 25, หรือจนถึง 80 รูป หรือ 100 รูป ก็สุดแต่จะศรัทธา ไม่จำกัดจำนวน การนิมนต์พระเพื่อฉันหรือรับอาหารบิณฑบาต อย่าระบุชื่ออาหาร 5 ชนิด คือ ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ สรุปแล้วระบุไม่ได้ทุกชนิด จะเป็นขนมจีน หมี่กรอบ ไม่ได้ทั้งนั้น ให้ใช้คำรวมว่า "รับอาหารบิณฑบาต เช้า - เพล" หรือ "ฉันเช้า ฉันเพล" ก็พอแล้ว
เมื่อพระสงฆ์ที่มาสวดมนต์ถึงบ้านแล้ว กิจที่จะต้องทำอีกอย่างหนึ่งก็คือ ควรจัดหาน้ำล้างเท้าและทำให้เสร็จ เพราะถ้าพระสงฆ์ล้างเอง น้ำมีตัวสัตว์พระสงฆ์ก็เป็นอาบัติ และถ้าปล่อยให้เท้าเปียกน้ำแล้วเหยียบอาสนะพระสงฆ์ก็เป็นอาบัติอีก จึงต้องทำให้ท่าน แต่สมัยนี้ การไปมาสะดวกด้วยยานพาหนะ เท้าพระสงฆ์ไม่เปรอะเปื้อน จึงไม่มีการล้างเท้าพระสงฆ์เป็นส่วนมาก
5. ลำดับพิธี โดยทั่วไปพิธีมงคลจะเริ่มด้วยประธาน หรือเจ้าภาพจุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย ธูปไม่ควรเกิน 3 ดอก หรืออย่างมากไม่เกิน 5 ดอก เทียน 2 เล่ม และจุดให้ติดจริง ๆ จุดแล้วอธิษฐานในใจกราบพระ 3 หน แล้วอาราธนาศีล อาราธนาพระปริตร ฟังพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ เมื่อพระสงฆ์สวดถึงบท "อเสวนา จ พาลนํ" ให้เจ้าภาพจุดเทียนน้ำมนต์ และเมื่อพระสงฆ์สวดถึงบทว่า "นิพฺพนฺติ ธีรา ยถา ยมฺปทีโป" ท่านดับเทียนตรงคำว่า "นิพฺ" โดยจุ่มเทียนน้ำมนต์ลงในบาตรน้ำมนต์ (การดับเทียนอาจจะผิดแผกไปจากนี้บ้างก็เป็นเรื่องของพระสงฆ์) พระสงฆ์สวดมนต์จบแล้ว ถ้าเป็นพิธีสวดมนต์ในวันเดียว ซึ่งนิยมทำในตอนเช้า หรือเพลก็ถวายภัตตาหาร ฉันเสร็จถวายไทยธรรม พระสงฆ์อนุโมทนา เจ้าภาพกรวดน้ำ ก็นับว่าเสร็จพิธี แต่ถ้าทำบุญ 2 วัน วันแรกนิยมสวดมนต์เย็น แบบนี้ เมื่อสวดมนต์เย็นเสร็จ ก็นับว่าเสร็จไปตอนหนึ่ง รุ่งขึ้นจะเช้าหรือเพล พระสงฆ์มาถึงก็ทำกิจเบื้องต้น มีจุดเทียนธูป อาราธนาศีล รับศีลเสร็จแล้ว พระสงฆ์สวดถวายพรพระ ไม่มีอาราธนาปริตร จบแล้วถวายภัตตาหาร ถวายไทยธรรม พระสงฆ์อนุโมทนาเจ้าภาพกรวดน้ำ จึงเสร็จพิธี
6. การกรวดน้ำ เมื่อพระสงฆ์เริ่มอนุโมทนา คือ รูปหัวหน้าว่า "ยถา..." ก็ให้เจ้าภาพทำการกรวดน้ำทันที พอจบ "ยถา..." พระสงฆ์รูปที่สองขึ้นบทให้อนุโมทนา "สัพพี..." พระสงฆ์นอกนั้นสวดรับต่อพร้อมกัน ก็ให้เจ้าภาพเทน้ำให้หมด แล้วนั่งประนมมือฟังพระสงฆ์ให้พรต่อไป จบแล้ว กราบ 3 หน
7. การประพรมน้ำพระพุทธมนต์ ให้กระทำหลังจากพระสงฆ์อนุโมทนา (ยถาสัพพี) จบแล้วจะนิมนต์ให้พระสงฆ์ประพรมใคร หรือที่ใดก็นิมนต์ท่านตามประสงค์
8. การเทศน์ การนิมนต์พระสงฆ์ให้แสดงพระธรรมเทศนาด้วย ในกรณีที่พระสวดมนต์ก่อนแล้วก็มีเทศน์ติดต่อกันไป การอาราธนาตอนพระสวดมนต์ ให้อาราธนาพระปริตร ยังไม่ต้องรับศีล ต่อเมื่อถึงเวลาเทศน์นิมนต์พระสงฆ์ขึ้นธรรมาสน์แล้ว จึงอาราธนาศีล รับศีล อาราธนาธรรมต่อพระสงฆ์เทศน์จบ ถ้าไม่มีพระสวดรับเทศน์ พระท่านจะอนุโมทนาบนธรรมาสน์เลย ท่านลงมาแล้วจึงถวายไทยธรรม (เครื่องกัณฑ์เทศน์) แต่ถ้ามีพระสวดรับเทศน์ เช่น ในกรณีทำบุญหน้าศพ เป็นต้น พระเทศน์จบ พระสงฆ์สวดรับเทศน์ต่อ (ระหว่างพระเทศน์จะลงมานั่งข้างล่างต่อต้นแถวพระสวด) จบแล้วเจ้าภาพถวายไทยธรรม พระสงฆ์อนุโมทนา เจ้าภาพกรวดน้ำ เป็นเสร็จพิธี
9. การตั้งเครื่องบูชาหน้าศพ ถ้าเป็นพิธีอาบน้ำศพ จะต้องมีเทียน (ประทีป) 1 เล่ม ตามไว้ข้างศพเหนือศีรษะด้วย และประทีปนี้จะตามไว้ตลอดเวลา เมื่อนำศพลงหีบแล้ว ก็ตามไว้ข้างหีบด้านเท้าของผู้ตาย ซึ่งถือว่าผู้ตายจะได้จุดส่องทางไป
ถ้าเป็นพิธีทำบุญหน้าศพ 7 วัน 50 วัน 100 วัน หรือวันเผาก็ตาม ด้านหน้าศพจะมีที่จุดธูปไว้ให้ผู้ที่เคารพนับถือบูชา 1 ที่ และนอกจากนี้ เวลาประกอบพิธีทุกครั้ง นิยมจัดเครื่องทองน้อยไว้เบื้องหน้าศพอีก 1 ที่ ซึ่งประกอบด้วย กรวยปักดอกไม้ 3 กรวย, เทียน 1 เล่ม, ธูป 1 ดอก, เครื่องทองน้อยนี้ตั้งไว้หน้าศพ เพื่อให้ศพบูชาธรรมโดยเจ้าภาพจุดให้ และการตั้งให้ตั้งดอกไม้ไว้ข้างนอก ตั้งธูปเทียนไว้ข้างใน (หันธูปเทียนไว้ทางศพ) ให้ตั้งเครื่องทองน้อยอีกชนิดหนึ่ง สำหรับเจ้าภาพในเวลาฟังธรรมระหว่างพระสงฆ์กับเจ้าภาพ การตั้งให้หันธูปเทียนไว้ทางเจ้าภาพ
10. การจุดเทียนธูป การจุดเทียนธูปพระรัตนตรัยหรืออื่นใดก็ตาม จะต้องจุดเทียนก่อนเสมอ แล้วจึงจุดธูป เพราะถือว่าเทียนสูงกว่าธูป และอีกประการหนึ่ง การจุดเทียนก่อน หากเทียนเกิดการดับขึ้นระหว่างกลางคัน ก็จะได้ต่อติดกันสะดวกยิ่งขึ้น
11. ผ้าภูษาโยง พิธีศพ เวลาพระท่านจะบังสุกุล ถ้าไม่มีผ้าทอด พระก็จับเฉพาะผ้าภูษาโยง หากไม่มีผ้าภูษาโยง จะใช้ด้ายสายสิญจน์แทนก็ได้ และห้ามข้ามเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นมือหรือเท้าก็ตาม ถือว่าไม่เคารพศพ สำหรับศพหลวง ผ้าภูษาโยงจะถูกนำเชื่อมกับผ้าหรือด้ายสายสิญจน์ที่ต่อมาจากศพ จากนั้นเจ้าภาพจึงทอดผ้า
12. ใบปวารณา ในการทำบุญ มักจะมีเงินถวายพระสงฆ์เสมอ เพื่อให้ท่านนำไปใช้จ่าย แต่พระสงฆ์ท่านจับต้องเงินไม่ได้ จึงใช้ใบปวารณาแทน และใช้คำว่าจตุปัจจัย (ปัจจัย 4 คือ เครื่องนุ่งห่ม 1 อาหาร 1 ที่อยู่อาศัย 1 ยารักษาโรค 1) แทนคำว่าเงิน
การเตรียมการในการทำบุญ
1. การจัดสถานที่ทำบุญ
1.1 โต๊ะหมู่บูชา
- โต๊ะไว้ด้านขวาอาสน์สงฆ์ สูงกว่าอาสน์สงฆ์พอสมควร หันหน้าไปทางด้านทิศตะวันออก ทิศเหนือ หรือทิศใต้ก็ได้ ไม่นิยมตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันตก (ดูความเหมาะสมของสถานที่ประกอบด้วย)
- โต๊ะหมู่บูชา ประกอบด้วยสิ่งสำคัญอย่างน้อยคือ.-
1.1.1 พระพุทธรูป 1 องค์
1.1.2 แจกัน 1 คู่ พร้อมดอกไม้ประดับ (ดอกไม้นิยมให้มีสีสวย - กลิ่นหอม - กำลังสดชื่น)
1.1.3 กระถางธูป 1 ใบ พร้อมธูปหอม 3 ดอก
1.1.4 เชิงเทียน 1 คู่ พร้อมเทียน 2 เล่ม
1.2 อาสน์สงฆ์
- จัดตั้งไว้ด้านซ้ายโต๊ะหมู่บูชา แยกเป็นเอกเทศต่างหาก จากที่นั่งฆราวาส ประกอบด้วยเครื่องรับรอง คือ.-
1.2.1 พรมเล็กเท่าจำนวนพระสงฆ์
1.2.2 กระโถนเท่าจำนวนพระสงฆ์
1.2.3 ภาชนะน้ำเย็นเท่าจำนวนพระสงฆ์
1.2.4 ภาชนะน้ำร้อนเท่าจำนวนพระสงฆ์
- เครื่องรับรองดังกล่าว ตั้งไว้ด้านขวามือของพระสงฆ์ โดยตั้งกระโถนไว้ด้านในสุด ถัดออกมาเป็นภาชนะน้ำเย็น ส่วนภาชนะน้ำร้อนจัดถวายเมื่อพระสงฆ์เข้านั่งแล้ว
- ถ้าเครื่องรับรองไม่เพียงพอ จัดไว้สำหรับพระผู้เป็นประธานสงฆ์ 1 ที่ นอกนั้น 2 รูปต่อ 1 ที่ก็ได้ (ยกเว้นแก้วน้ำ)
1.3 ที่นั่งเจ้าภาพและผู้จัดงาน
- จัดไว้ข้างหน้าของอาสน์สงฆ์ โดยแยกเป็นส่วนหนึ่งต่างหากจากอาสน์สงฆ์
- ถ้าเนื่องเป็นอันเดียวกับอาสน์สงฆ์ ให้ปูเสื่อหรือพรมบนอาสน์สงฆ์ ทับผืนที่เป็นที่นั่งสำหรับฆราวาส โดยปูทับออกมาตามลำดับ แล้วปูพรมเล็กสำหรับพระสงฆ์แต่ละรูปอีก เพื่อให้สูงกว่าที่นั่งเจ้าภาพ
1.4 ภาชนะน้ำมนต์
- จัดทำเฉพาะพิธีทำบุญงานมงคลทุกชนิด โดยตั้งไว้ข้างโต๊ะหมู่บูชา ด้านขวาของประธานสงฆ์
- พิธีทำบุญงานอวมงคลที่เกี่ยวเนื่องกับศพ เช่น ทำบุญ 7 วัน 50 วัน 100 วัน เป็นต้น ไม่ต้องจัดภาชนะน้ำมนต์
1.5 เทียนน้ำมนต์
- ใช้เทียนขี้ผึ้งแท้ น้ำหนัก 1 บาทขึ้นไป โดยใช้ชนิดไส้ใหญ่ เพื่อป้องกันมิให้ดับง่าย
2. การนิมนต์พระสงฆ์
2.1 พิธีทำบุญงานมงคล อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 5 รูป ข้างมากไม่มีกำหนด (พิธีหลวงนิยม 10 รูป)
2.2 งานมงคลสมรส เมื่อก่อนนิยมนิมนต์จำนวนคู่ คือ 6 - 8 - 10 - 12 รูป เพื่อให้ฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาวนิมนต์ฝ่ายละเท่า ๆ กัน
2.3 ปัจจุบัน งานมงคลทุกประเภท รวมทั้งงานมงคลสมรสนิมนต์ 9 รูป (เลข 9 ออกเสียงใกล้เคียงคำว่า "ก้าว" กำลังพระเกตุ 9, พระพุทธคุณ 9 และโลกุตธรรม 9)
2.4 งานทำบุญอายุ นิยมนิมนต์พระสงฆ์เกินกว่าอายุเจ้าภาพ 1 รูป
2.5 งานอวมงคลเกี่ยวเนื่องกับพิธีศพ นิยมนิมนต์ดังนี้:-
- สวดพระอภิธรรม 4 รูป
- สวดหน้าไฟ 4 รูป
- สวดพระพุทธมนต์ 5 - 7 - 10 รูป ตามกำลังศรัทธา
- สวดแจง 20 - 25 - 50 - 100 - 500 รูป หรือทั้งวัด
- สวดมาติกา สวดบังสุกุล นิยมนิมนต์เท่าอายุผู้ตาย หรือตามศรัทธาก็ได้
2.6 วิธีการนิมนต์
- พิธีที่เป็นทางราชการ นิยมนิมนต์เป็นลายลักษณ์อักษร
- พิธีทำบุญส่วนตัว นิยมไปนิมนต์ด้วยวาจาด้วยตนเอง
2.7 ข้อควรระวัง
อย่านิมนต์ออกชื่ออาหาร เช่น นิมนต์ไปฉันขนมจีน เป็นต้น เพราะพระผิดวินัยบัญญัติ
นิมนต์แต่เพียงว่า "นิมนต์รับบิณฑบาต รับภิกษา" หรือ " นิมนต์ฉันช้า ฉันเพล" เ้ป็นต้น
3. การใช้ด้ายสายสิญจน์
3.1 นิยมใช้ทั้งงานพิธี และพิธีอวมงคล
3.2 งานพิธีอวมงคลเกี่ยวกับศพ ไม่ใช้ด้ายสายสิญจน์รอบอาคารบ้านเรือน ใช้เป็นสายโยงจากศพมาถึงอาสน์สงฆ์ สำหรับพระสงฆ์พิจารณาบังสุกุล
3.3 งานพิธีมงคล นิยมวงรอบอาคารบ้านเรือนเฉพาะพิธีขึ้นบ้านใหม่ ทำบุญบ้านประจำปี และทำบุญปัดความเสนียดจัญไรดังนี้:-
- อาคารบ้านเรือนที่มีรั้วหรือกำแพง วงรอบรั้วหรือกำแพงโดยรอบ
- อาคารบ้านเรือนที่ไม่มีรั้วหรือกำแพงล้อม หรือมีแต่บริเวณกว้างขวางเกินไป ให้วงเฉพาะรอบตัวอาคารบ้านเรือน
3.4 การวงด้ายสายสิญจน์
- เริ่มวงด้ายสายสิญจน์ตั้งแต่โต๊ะหมู่บูชา แต่ยังไม่ต้องวงรอบพระพุทธรูป เมื่อรอบอาคารบ้านเรือน หรือรอบบริเวณงาน แล้วจึงนำมาวงรอบฐานพระพุทธรูปภายหลัง โดยวงเวียนขวา 1 รอบ หรือ 3 รอบ
- วงด้ายสายสิญจน์เวียนขวาไปตามลำดับ และยกขึ้นให้อยู่สูงที่สุด เพื่อป้องกันคนข้ามกราย หรือทำขาด
- ด้ายสายสิญจน์ที่วงแล้วไว้ตลอดไป ไม่ต้องเก็บ
- พิธีทำบุญงานมงคลอื่น ๆ วงเฉพาะบริเวณห้องพิธี หรือเฉพาะรอบฐานพระพุทธรูปที่โต๊ะหมู่บูชา แล้วโยงมาวงรอบภาชนะน้ำมนต์ วางกลุ่มด้ายสายสิญจน์ใส่พานไว้ด้านซ้ายโต๊ะหมู่บูชา
3.5 การใช้ด้ายสายสิญจน์ทอดบังสุกุล
- โยงจากศพ จากโกศอัฐิ จากรูปของผู้ตาย หรือจากรายนามของผู้ตายอย่างใดอย่างหนึ่ง มาทอดให้พระสงฆ์พิจารณาบังสุกุล
- ในพิธีทำบุญงานมงคล หากเชิญโกศอัฐิของบรรพบุรุษมาร่วมบำเพ็ญกุศลด้วย เมื่อจะนิมนต์พระสงฆ์พิจารณาบังสุกุล ให้ใช้ด้ายสายสิญจน์อีกกลุ่มหนึ่งต่างหากจากกลุ่มที่พระสงฆ์ถือเจริญพระพุทธมนต์ หรือจะเด็ดด้ายสายสิญจน์ จากกลุ่มเดียวกันนั้น ให้ขาดออกจากพระพุทธรูป แล้วเชื่อมโยงกับโกศอัฐิก็ได้
3.6 การทำมงคลแฝด
- นำด้ายดิบที่ยังไม่ได้ทำเป็นด้ายสายสิญจน์ไปขอให้พระเถระที่เคารพนับถือทำพิธีปลุกเสก และทำเป็นมงคลแฝดสำหรับคู่บ่าวสาว ก่อนถึงวันงานประมาณ 7 วัน หรือ 3 วัน เป็นอย่างน้อย
4. เทียนชนวน
4.1 อุปกรณ์
- ใช้เชิงเทียนทองเหลืองขนาดกลาง 1 ข้าง
- เทียนขี้ผึ้งไส้ใหญ่ ๆ ขนาดพอสมควร 1 เล่ม
- น้ำมันชนวน (ขี้ผึ้งแท้แช่น้ำมันเบนซิน หรือเคี่ยวขี้ผึ้งให้เหลวยกลงจากเตาไฟแล้ว ผสมน้ำมันเบนซิน)
4.2 การถือเชิงเทียนชนวนสำหรับพิธีกร
- ถือด้วยมือขวา โดยหงายฝ่ามือ ใช้นิ้วมือสี่นิ้ว (เว้นนิ้วหัวแม่มือ) รองรับฐานเชิงเทียน ใช้หัวแม่มือกดฐานเชิงเทียนเข้าไว้
- ไม่นิยมจับกึ่งกลางเชิงเทียนเพราะจะทำให้ผู้ใหญ่รับไม่สะดวก
4.3 การส่งเทียนชนวนให้ผู้ใหญ่สำหรับพิธีกร
- ถึงเวลาประกอบพิธี จุดเทียนชนวน ถือด้วยมือขวา เดินเข้าไปหาประธานในพิธี (เข้าทางซ้ายมือประธาน) ยืนตรงโค้งคำนับ
- เดินตามหลังประธานในพิธีไปยังที่บูชา โดยเดินไปทางด้านซ้ายมือประธานในพิธี
- ถ้าประธานในพิธีหยุดยืนหน้าที่บูชา พิธีกรน้อมตัวลงเล็กน้อยส่งเทียนชนวน (ถ้าประธานในพิธีคุกเข่าพิธีกรก็นั่งคุกเข่า) ตามแล้วส่งเทียนชนวนด้วยมือขวา มือซ้ายห้อยอยู่ข้างตัว
- ส่งเทียนชนวนแล้วถอยหลังออกมาห่างจากประธานในพิธีพอสมควร พร้อมกับคอยสังเกต ถ้าเทียนชนวนดับ พึงรับเข้าไปจุดทันที
- เมื่อประธานในพิธีจุดเทียนธูปเสร็จแล้ว เข้าไปรับเทียนชนวน โดยวิธียื่นมือขวาแบมือเข้าไปรองรับ ถอยหลังห่างออกไปเล็กน้อย โค้งคำนับแล้วจึงกลับหลังหันเดินออกมา
4.4 การจุดเทียนธูปสำหรับประธานในพิธี
- เมื่อพิธีกรถือเทียนชนวนเข้าไปเชิญประธานในพิธี ประธานในพิธี ลุกขึ้นจากที่นั่ง เดินไปที่หน้าโต๊ะหมู่บูชา ถ้าโต๊ะหมู่บูชาตั้งอยู่สูง พึงยืนถ้าตั้งอยู่ไม่สูงนัก พอนั่งคุกเข่าจุดถึง พึงนั่งคุกเข่าลงแล้วรับเชิงเทียนชนวนจากพิธีกร
- จุดเทียนเล่มขวาของพระพุทธรูปก่อน แล้วจึงจุดเล่มซ้ายต่อไป แล้วจึงจุดธูป
- ถ้าธูปมิได้จุ่มน้ำมันชนวน พึงถอนธูปออกมาจุดกับเทียนชนวน ส่งเทียนชนวนให้พิธีกรแล้ว ปักธูปไว้ตามเดิม โดยปักเรียงหนึ่ง เป็นแถวเดียวกัน หรือปักเป็นสามเส้าก็ได้
- จุดเทียนธูปเสร็จแล้ว นั่งคุกเข่าประนมมือ กล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย โดยว่า นโม... 3 จบ แล้วว่า อิมินา... (เพียงแต่นึกในใจ) แล้วกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ขณะกราบพึงระลึกถึงพระรัตนตรัยด้วยคือ กราบครั้งที่ 1 บริกรรมว่า อรหํ สฺมาสฺมพุทฺโธ ภควา พุทฺธํ ภควนฺตํ อภิวาเทมิ ครั้งที่ 2 บริกรรมว่า สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม ธมฺมํ นมสฺสามิ ครั้งที่ 3 บริกรรมว่า สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ สงฺฆํ นมามิ เสร็จแล้วกลับเข้าไปนั่งประจำที่
5. การอาราธนาสำหรับพิธีกร
- เมื่อเจ้าภาพ หรือประธานในพิธี จุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัยเสร็จแล้ว พิธีกรเริ่มกล่าวคำอาราธนาศีล
- ถ้าอาสน์สงฆ์อยู่ระดับพื้น ผู้ร่วมพิธีทั้งหมดนั่งกับพื้น พิธีกรพึงนั่งคุกเข่าประนมมือ กราบ 3 ครั้ง แล้วจึงกล่าวคำอาราธนา ถ้าอาสน์สงฆ์ยกขึ้นสูงจากพื้น แต่ผู้ร่วมพิธีทั้งหมดนั่งอยู่กับพื้น ก็นั่งคุกเข่าอาราธนาเช่นกัน
- ถ้าอาสน์สงฆ์ยกสูง ผู้ร่วมพิธีทั้งหมดนั่งเก้าอี้ พิธีกรพึงยืนทางท้ายอาสน์สงฆ์ ข้างหน้าพระสงฆ์รูปที่ 3 จากท้ายแถว หรือที่อันเหมาะสม ทำความเคารพประธานในพิธี แล้วหันหน้าไปทางประธานสงฆ์ ประนมมือกล่าวคำอาราธนาศีล โดยหยุดทอดเสียงเป็นจังหวะ ๆ ดังนี้ ;- " มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะณัตถายะ ติสะระเณนะ สะหะ, ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ, ทุติยัมปิ ... ยาจามะ, ตะติยัมปิ ... ยาจามะ "
- เมื่อรับศีลเสร็จแล้ว พึงอาราธนาพระปริตรต่อไป จบแล้วถ้านั่งคุกเข่า ก็กราบ 3 ครั้ง ถ้ายืน ก็ยกมือไหว้ เสร็จแล้วทำความเคารพประธานในพิธีอีกครั้งหนึ่ง
6. การจุดเทียนน้ำมนต์
- ประธานในพิธี หรือเจ้าภาพ จะต้องรอคอยจุดเทียนน้ำมนต์อีกครั้งหนึ่ง
- เมื่อพระเจริญพระพุทธมนต์ถึงมงคลสูตร พิธีกรพึงจุดเทียนชนวนเข้าไปเชิญประธานในพิธี หรือเจ้าภาพไปจุดเทียนน้ำมนต์ ยกภาชนะน้ำมนต์ถวายประธานสงฆ์ ยกมือไหว้ แล้วกลับไปนั่งที่เดิม
7. การถวายข้าวบูชาพระพุทธ
- เมื่อพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ถึงบทถวายพรพระ พิธีกรยกสำรับคาวหวานไปตั้งที่หน้าโต๊ะหมู่บูชา โดยตั้งบนโต๊ะที่มีผ้าขาวปูรอง หรือที่พื้นแต่มีผ้าขาวปูรอง
- เชิญประธานในพิธี หรือเจ้าภาพทำพิธีบูชา (พิธีกรไม่ควรจัดทำเสียเอง)
- ประธานในพิธี หรือเจ้าภาพ นั่งคุกเข่า (พิธีราษฎร์จุดธูป 3 ดอก ปักที่กระถางธูป) ประนมมือกล่าวคำบูชาพระพุทธจบแล้วกราบ 3 ครั้ง
- กรณียกสำรับคาวหวานสำหรับพระพุทธ และสำรับคาว หรือทั้งคาวและหวาน สำรับพระสงฆ์ เข้าไปพร้อมกัน (หลังจบบทถวายพรพระ) ประธานในพิธี หรือเจ้าภาพ นั่งคุกเข่ากล่าวคำบูชาข้าวพระพุทธจบแล้ว จึงยกสำรับคาวหรือทั้งคาวและหวาน ถวายพระสงฆ์เฉพาะรูป ประธานในพิธี นอกนั้นจะมอบให้ผู้ร่วมพิธีเข้าร่วมถวาย ก็ชื่อว่าเป็นความสมบูรณ์แห่งพิธีการที่เหมาะสม (กรณีนี้น่าจะเหมาะสมกว่า)
8. การลาข้าวพระพุทธ
- เมื่อพระสงฆ์ฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว เจ้าภาพหรือพิธีกร เข้าไปนั่งคุกเข่าประนมมือ กล่าวคำลาข้าวพระพุทธจบแล้วกราบ 3 ครั้ง แล้วยกสำรับไปได้
9. การจัดภัตตาหารถวายพระสงฆ์
- เวลาเช้า จัดอาหารประเภทอาหารเบา เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก กาแฟ ขนมปัง เป็นต้น
- เวลาเพล จัดอาหารประเภทอาหารหนัก โดยมากจัดเป็นอาหารไทย และควรเป็นอาหารพื้นเมืองเป็นหลัก อาจมีอาหารพิเศษแทรกบ้างก็ได้
10. การประเคนของพระ
- ถ้าเป็นชาย ยกส่งให้ถึงมือพระภิกษุผู้รับประเคน ถ้าเป็นหญิงวางถวายบนผ้าที่พระทอดรับประเคน และรอให้ท่านจับที่ผ้าทอดนั้นก่อน จึงวางสิ่งของลงบนผ้านั้น
- ถ้าพระสงฆ์นั่งกับพื้น พึงนั่งคุกเข่าประเคน ถ้าพระสงฆ์นั่งเก้าอี้ พึงยืนประเคน
- ยกภัตตาหารที่จะพึงฉัน พร้อมภาชนะอาหารถวายเท่านั้น สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ไม่ต้องยกประเคน เพียงแต่วางมอบให้เท่านั้นก็พอ
- ภัตตาหารทุกชนิดที่ประเคนแล้ว ห้ามคฤหัสถ์จับต้องอีก ถ้าเผลอไปจับต้องเข้า ต้องประเคนใหม่
- ประเคนครบทุกอย่างแล้ว ถ้านั่งคุกเข่าประเคนกราบ 3 ครั้ง ถ้ายืนประเคนก็น้อมตัวลงยกมือไหว้
- ลักษณะการประเคนที่ถูกต้อง ประกอบด้วยองค์ 5 คือ :-
1. สิ่งของที่จะประเคน ไม่ใหญ่โต หรือหนักเกินไปขนาดปานกลางคนเดียวยกไหว และยกสิ่งของนั้น ให้ขึ้นจากพื้นที่สิ่งของนั้นตั้งอยู่
2. ผู้ประเคนอยู่ห่างจากพระภิกษุผู้รับประเคนประมาณ 1 ศอก (อย่างมากไม่เกิน 2 ศอก)
3. ผู้ประเคนน้อมสิ่งของนั้นเข้าไปให้ด้วยกิริยาอาการแสดงความเคารพอ่อนน้อม
4. กิริยาอาการที่น้อมสิ่งของเข้าไปให้นั้น จะส่งให้ด้วยมือก็ได้ ด้วยของเนื่องด้วยกาย เช่น ใช้ทัพพีตักถวายก็ได้
5. พระภิกษุผู้รับประเคนนั้น จะรับด้วยมือก็ได้ ด้วยของเนื่องด้วยกาย เช่น จะใช้ผ้าทอดรับ ใช้บาตรรับ หรือใช้ภาชนะรับก็ได้
11. การจัดเครื่องไทยธรรมถวายพระสงฆ์
11.1 เครื่องไทยธรรม คือ วัตถุสิ่งของต่าง ๆ ที่สมควรถวายแก่พระสงฆ์ ได้แก่ ปัจจัย 4
11.2 สิ่งของที่ประเคนพระสงฆ์ได้ในเวลาเช้าชั่วเที่ยง ได้แก่ ประเภทอาหารคาวหวานทุกชนิด ทั้งอาหารสด อาหารแห้ง และอาหาร เครื่องกระป๋องทุกประเภท
หากนำสิ่งของเหล่านี้ไปถวายในเวลาหลังเที่ยงวันแล้ว เพียงแต่แจ้งให้ภิกษุรับทราบ แล้วมอบสิ่งของเหล่านั้น แก่ศิษย์ของท่าน ให้เก็บรักษาไว้ทำถวายในวันต่อไปก็พอ
11.3 สิ่งของที่ประเคนพระสงฆ์ได้ตลอดเวลา ได้แก่ ประเภทเครื่องดื่ม เครื่องยาบำบัดความเจ็บไข้ และประเภทเภสัช เช่น น้ำตาล น้ำผึ้ง น้ำอ้อย หมากพลู หรือประเภทสิ่งของที่ไม่ใช่ของสำหรับขบฉัน
11.4 สิ่งของที่ไม่สมควรประเคนพระสงฆ์ ได้แก่ เงินและวัตถุสำหรับใช้แทนเงิน เช่น ธนบัตร เป็นต้น
(ในการถวาย ควรใช้ใบปวารณาแทนตัวเงิน ส่วนตัวเงินมอบไว้กับไวยาวัจกรของพระภิกษุนั้น)
12. การปฏิบัติในการกรวดน้ำ
- กระทำในงานทำบุญทุกชนิด เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว
- ใช้น้ำที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ ไม่มีสิ่งอื่นใดเจือปน
- ใช้ภาชนะสำหรับกรวดน้ำโดยเฉพาะ ถ้าไม่มี ก็ใช้แก้วน้ำหรือขันน้ำแทน โดยจัดเตรียมไว้ถึงเวลาใช้
- กรวดน้ำหลังจากถวายเครื่องไทยธรรมแล้ว
- เมื่อประธานสงฆ์เริ่มอนุโมทนา (ยถา...) ก็เริ่มหลั่งน้ำอุทิศส่วนกุศล
- ถ้านั่งอยู่กับพื้น พึงนั่งพับเพียบจับภาชนะสำหรับกรวดน้ำด้วยมือทั้งสอง รินน้ำให้ไหลลงเป็นสาย
- ถ้าภาชนะสำหรับกรวดน้ำปากกว้าง เช่น ขันหรือแก้ว ควรใช้นิ้วมือขวารองรับสายน้ำให้ไหลลงไปตามนิ้วชี้นั้น ถ้าภาชนะปากแคบ ไม่ต้องใช้นิ้วมือรองรับสายน้ำ
- ควรรินน้ำให้ไหลลงเป็นสาย โดยไม่ขาดตอนเป็นระยะ ๆ พร้อมกันนั้น ควรตั้งจิตอุทิศกุศลแก่ท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว
- เมื่ออุทิศเป็นส่วนรวมแล้ว ควรอุทิศระบุเฉพาะเจาะจง ชื่อ นามสกุล ของผู้ล่วงลับไปแล้วอย่างชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง
- เมื่อพระสงฆ์รูปที่ 2 รับและขึ้นอนุโมทนาว่า สัพพีติโย ... พึงเทน้ำให้หมดภาชนะ แล้วประนมมือรับพรต่อไป
- ขณะที่พระสงฆ์กำลังอนุโมทนา ไม่พึงลุกไปทำธุรกิจอื่น ๆ (หากไม่จำเป็นจริง ๆ)
- พระสงฆ์อนุโมทนาจบแล้ว พึงกราบหรือไหว้ตามสมควรแก่สถานที่นั้น ๆ
- น้ำที่กรวดแล้วพึงนำไปเทลงที่พื้นดิน โดยเทลงที่กลางแจ้ง ภายนอกตัวอาคารบ้านเรือน ห้ามเทลงไปในกระโถน หรือในที่สกปรกเป็นอันขาด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น